นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ระบุถึงเรื่อง ประธานสภา เผยว่า
ทำไมเพื่อไทยควรต้องถอย
หลักการของระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา นั้น การเลือก ส.ส. ของประชาชน คือ การเลือกนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกันด้วย โดยพรรคที่ได้ ส.ส.เป็น อันดับหนึ่ง และรวมเสียงกับพรรคอื่นได้เกินครึ่งจะได้จัดตั้งรัฐบาล และว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
และเนื่องจากก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องมีการเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฏร ก่อนเพื่อไปทำหน้าที่ควบคุมการประชุมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเป็น เรื่องที่ไปด้วยกันที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นสิทธิของพรรคอันดับหนึ่งด้วย เว้นแต่พรรคอันดับหนึ่งจะยอมยกให้พรรคอันดับสอง
เมื่อพรรคอันดับหนึ่งขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้ พรรคอันดับสองก็ไม่ควรดึงดันจะเอาให้ได้ เพราะหากพรรคฝ่ายค้านเดิมคือเพื่อไทย-ก้าวไกลที่ประชาชนเสียงข้างมากเลือกให้มาเป็นรัฐบาล ตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะเรื่องการต่อรองตำแหน่งของพรรคเพื่อไทย ความเสียหายสถานหนักจะเกิดกับพรรคเพื่อไทยได้
แล้วที่ให้เหตุผลกันว่า พรรคก้าวไกลมี ส.ส. มากกว่าพรรคเพื่อไทยแค่ 10 คน ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังดูดีแม้แต่น้อย เพราะจำนวน ส.ส. 10 คนที่พรรคก้าวไกลมีมากกว่านั้น มาจากคะแนนบัญชีรายชื่อ ที่พรรคก้าวไกลได้มากกว่าพรรคเพื่อไทยประมาณ สามล้านห้าแสนคะแนน หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่จำนวน ส.ส. ต่างกันแค่ 10 คน เพราะเรามี ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 100 คน หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน ต่างกัน 10 เปอร์เซ็นต์จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน คือต่างกัน 50 คนเลยนะครับ
ผมจึงเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ควรตั้งหน้าตั้งตาจะเอาตำแหน่งประธานสภาให้ได้ และหวังว่านี่จะเป็นแค่การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มเพื่อไปแก้ปัญหาภายในพรรคเท่านั้น
ที่ว่าไปนี้ไม่ใช่เรื่องการเชียร์พิธาหรือก้าวไกล แต่เป็นเรื่อง กติกาของระบบรัฐสภา เพราะหากเพื่อไทยเป็นอันดับหนึ่ง แล้วพรรคก้าวไกลจะเอาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ ผมก็จะพูดแบบเดียวกันนี้ เพราะภารกิจขณะนี้ของทั้งสองพรรคคือ ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยให้ได้ตามเจตนาของประชาชนเสียงข้างมากครับ