วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จากกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับไทย ถึงสนามบินดอนเมือง ในเวลา 09.00น. จับตาก้าวแรก ทักษิณ ชินวัตร ในวัย 74 ปี เหยียบผืนแผ่นดินไทย กับภาพประวัติศาสตร์ ทักษิณกราบแผ่นดิน เมื่อปี 2551 จะย้อนกลับมาอีกครั้งหรือไม่ หลังจากลี้ภัยอยู่ต่างประเทศยาวนานถึง 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 (ถ้านับจากรัฐประหารปี 49 คือ 17 ปี)
โดยนับตั้งแต่ถูกทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นายทักษิณต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทักษิณ ชินวัตร เคยเอ่ยว่าจะกลับประเทศไทย หรือกลับบ้านมาแล้ว 20ครั้ง นับตั้งแต่ปี52 กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ส.ค.66 ที่ แพทองธาร ชินวัตร ยืนยันอีกครั้ง ว่า จะกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ เวลา 09.00 น. หลังวันเกิดลูกสาวเพียง 1 วัน โดยเครื่องบินส่วนตัว ลงสนามบินดอนเมือง
"ทักษิณกลับไทย" 22 ส.ค.66 มีกี่คดีที่รอต้อนรับกลับบ้าน ??
เปิด3 คดีที่เหลือที่ศาลพิพากษาจำคุก"ทักษิณ"
1. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ “คดีหวยบนดิน” ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
2. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยเงินกู้ 4 พันล้านบาทให้แก่รัฐบาลเมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
3. คดีให้นอมินีถือหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา
4. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน และทักษิณ ในการซื้อที่ดิน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 51โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ อ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่จีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน *ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว*
สรุปแล้วมีโทษเก่า 4 คดี โทษจำคุกรวม 12ปี (ขาดอายุความไป 1คดี คือ ทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ส่งผลให้เหลือโทษจำคุกรวม 10ปี)
เปิดเส้นทาง "ทักษิณ" กลับไทย จากดอนเมืองสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
เบื้องต้น เมื่อทักษิณ ชินวัตรเดินทางถึงไทย จะมีการนำตัวไปยังสถานที่ควบคุมพิเศษ ที่ตั้งอยู่ในสโมสรตำรวจ ก่อนเดินทางไปยังศาลฎีกา(สนามหลวง) เพื่อรับฟังคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วทั้งหมด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ