จากรณีเมื่อวันที่ 5 ม.ค.67 ที่อาคารรัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้จัดแถลงข่าวสรุปอภิปรายงบประมาณปี 2567 พร้อมจี้ รัฐบาลแจง หนี้ตามมาตรา 28 เนื่องจากประชาชนจะต้องรับผิดชอบผ่านการจ่ายภาษี พร้อมฝากนายกฯ ทำการบ้านใหม่เรื่อง แลนด์บริดจ์ หลังพูดข้อมูลผิด
โดย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า งบประมาณปี 2567 นั้นสะท้อนให้เห็นว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศในหลายๆ เรื่อง เช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม, PM2.5 ,สารพิษรั่วไหล ,วิกฤตการศึกษา ,สังคมผู้สูงวัย เป็นต้น อีกทั้งงบไม่ได้จัดไว้ตอบโจทย์กับการแก้ปัญหา มีแต่แผนสร้างถนน สร้างตึก
อีกทั้งยังพบว่าในงบ ปี 67 นั้นไม่มีงบในการทำดิจิทัลวอลเล็ต หรือการ แจกเงิน1หมื่นบาท เลยซักบาทเดียว ขณะที่งบกองทุนเพิ่มขีดความสามารถเพิ่งจะได้เพิ่มมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา 15,000 ล้านบาท หลังปรับปรุงงบครั้งที่ 1 ซึ่งสรุปแล้วต้องพึ่ง พ.ร.บ. เงินกู้อย่างเดียวใช่หรือไม่ อีกทั้งยังต้องเพิ่มยอดเงินกู้เพื่อทำทั้งดิจิทัลวอลเล็ตและกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ซึ่งถ้าหาก ออก พ.ร.บ. เงินกู้ไม่ได้งบกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะกลายเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์
รัฐบาลควรต้องชี้แจงในเรื่องของงบประมาณที่ตั้งไว้ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นงบบำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาลที่ตั้งไว้อย่างไม่พอจ่ายในปี 2567 เงินเดือนข้าราชการที่ไม่ได้ตั้งเผื่อไว้สำหรับนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และยังไม่ได้รับคำตอบว่ารัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร จะใช้งบกลางหรือเงินคงคลังมาเติมหรือไม่
ในส่วนของงบประมาณเรือดำน้ำ เห็นได้ชัดว่ารัฐมนตรียอมรับถึงความพ่ายแพ้ โดยชี้แจงว่าประเทศไทยเองก็ผิดสัญญาที่ไม่ได้จ่ายเงินให้จีนในช่วงโควิด ซึ่งตนจำเป็นต้องโต้แย้งว่าไทยไม่เคยผิดสัญญาแม้แต่ครั้งเดียว เพราะที่ไม่ได้จ่ายเงินให้จีนก็เนื่องจากจีนไม่สามารถต่อเรือได้เสร็จตามกำหนด จึงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญา อีกทั้งสัญญายังระบุด้วยว่าจะต้องมีการเจรจาฉันมิตรในกรณีที่มีการผิดสัญญา แต่รัฐบาลก็ได้ถอยเกินการเจรจาฉันมิตรไปแล้ว ซึ่งต้องทวงถามต่อไปว่าค่าปรับสำหรับการส่งมอบล่าช้า ล่าสุด 94 วันแล้ว รัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อ
นส.ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีการตั้งงบประมาณไว้สองก้อนในปี 2567 ประกอบด้วยการจ่ายงวดงานสุดท้ายของรายงานศึกษาความเป็นไปได้ 68 ล้านบาท และงบประมาณตั้งใหม่ในการจัดทำเอกสารเชิญชวนนักลงทุน 45 ล้านบาท
แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์มีข้อผิดพลาดอยู่ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก การมีท่อน้ำมัน ซึ่งในรายงานศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ได้ศึกษาโครงการในกรณีที่มีท่อน้ำมัน มีแต่เพียงการศึกษาโครงการที่มีท่าเรือสองท่า ทางรถไฟ และถนนเชื่อมต่อท่าเรือเท่านั้น แม้จะมีการเว้นที่ไว้วางท่อน้ำมัน แต่ในการศึกษาความเป็นไปได้ก็ไม่มีเรื่องท่อน้ำมันแต่อย่างใด นั่นเท่ากับว่าอาจจะต้องมีการรื้อรายงานศึกษาความเป็นไปได้ และปรับแผนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งจะไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ผ่านมติ ครม. ไปแล้ว
ทั้งนี้ในปี 2567 ตนมองว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังจะทำผิดพลาดซ้ำรอย เช่น เงินบุคลากร ที่ควรตั้งไว้ 3.6 แสนล้านบาท กลับตั้งไว้ที่ 3.3 แสนล้านบาท เงินบำนาญ 6,000 ล้านบาทที่ไม่ตั้งไว้ ซึ่งตนสงสัยในความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนเคยถามกรมบัญชีกลางขอไปเพียงพอจะจ่าย แต่การจัดสรรไม่เพียงพอ ถือเป็นความตั้งใจที่ตั้งขาดเพื่อหาเงินชดเชยภายหลัง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ โดยไม่ตั้งงบประมาณที่เพียงพอ
นายกรัฐมนตรีควรทราบว่าตัวเลขความคุ้มค่าที่นำเสนอเข้า ครม. และมีมติออกมาแล้ว จนนำไปสู่การนำเสนอผ่านโร้ดโชว์ต่างๆ ล้วนเป็นรายงานที่ตัวเลขสวยหรูเกินจริง ประเมินรายได้สูงเกินจริง และประมาณการค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง เป็นเส้นทางที่ไม่มีใครจะมาใช้จริง และมีการประมาณการการประหยัดเวลาและต้นทุนที่สูงเกินจริง
ซึ่งสุดท้ายหากจะเป็นโครงการ PPP ที่เอกชนลงทุนเองเกือบ 100% จริง ถ้านักลงทุนไม่มาโครงการก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังจะถูกเวนคืนอยู่ดี จะต้องมารอลุ้นวันต่อวันว่าบ้านจะถูกเวนคืนหรือไม่ ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ตนและพรรคก้าวไกลเห็นด้วยที่จะมีการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ การมีท่าเรือยุทธศาสตร์ การมีโครงข่ายระบบรางเชื่อมต่อ การทำนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่สิ่งที่น่ากังขาคือความคุ้มค่าของโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นอย่างที่มีการคาดการณ์จริงหรือไม่ จึงต้องฝากนายกรัฐมนตรีดำเนินการศึกษาให้รอบคอบกว่านี้ด้วย