นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากที่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา สสว. ได้มีการคิกออฟ โครงการ “SME ONE ID : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ” ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ทาง สสว. ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อให้การสนับสนุนแก่ MSME ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และขอรับบริการจาก สสว.ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาธุรกิจเพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน, ด้านการขยายช่องทางการตลาด และด้านการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนแล้วรวม 16 หน่วยงาน
อาทิ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.), บมจ.สยามแม็คโคร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น, บมจ.อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ, บริษัทในเครือ The Mall Group, บริษัท เทลสกอร์ จำกัด, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), ธนาคารออมสิน, Bank of China (Thai) Public Company Limited , TikTok และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นต้น
ขณะที่มีหน่วยงานภาครัฐจะช่วยขยายผลของโครงการ SME ONE ID และอำนวยความสะดวกในการใช้งานในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหลักของภาครัฐที่ให้บริการ MSME อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข โดย สสว. ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการ MSME ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID (ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในสิ้นปีนี้
ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวอีกว่า ระบบดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลต่อไปยังระบบ e-Service ของหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ผู้ประกอบการสามารถเลือกบริการของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการ และสามารถเข้าใช้บริการได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
“ข้อมูลที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบการนี้จะได้รับการเชื่อมโยงจากฐานข้อมูล One SME และฐานข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นไปตามธรรมาภิบาลข้อมูล ผ่านทางศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ ของทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหลายหน่วยงาน อาทิ กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น”
โครงการนี้ สสว. มีความตั้งใจที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ทั่วประเทศ โดยโครงการจะก่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1.ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ MSME ได้แก่ ลดการกรอกข้อมูลหรือการเตรียมเอกสาร, ได้รับบริการที่รวดเร็วเมื่อต้องการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ, ได้รับความสะดวกเพราะใช้เพียง QR Code หรือบัตรในการติดต่อ ซึ่งในขั้นต้น สสว. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จะจัดทำ “SME Fast Lane” สำหรับ SME ที่ลงทะเบียน SME One ID ในการให้บริการต่างๆ โดยจะเริ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนภายสิ้นปีนี้ และจะขยายการให้บริการ SME Fast Lane ไปยังทุกจังหวัด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ที่มาลงทะเบียน SME One ID และเป็นคู่ค้ากับห้างค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ The Mall เครือ CP สามารถได้สิทธิประโยชน์ในการลดเวลา Credit Term ลงจาก 45 วัน เหลือน้อยกว่า 30 วัน อีกด้วย
2.ประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ได้ข้อมูล MSME ที่ถูกต้องและสามารถให้บริการได้รวดเร็วขึ้น, ลดกระดาษและสำเนาเอกสาร รวมถึงสามารถส่งต่อการให้บริการระหว่างหน่วยงานได้ และ 3.ประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ จากประเทศไทยจะมีฐานข้อมูล Big Data ของ SME ที่ทันสมัยและใช้งานร่วมกันในหน่วยงานรัฐได้
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถลงทะเบียน SME ONE ID ได้ผ่านทางเว็บไซต์ Bizportal.go.th หรือทางแอปพลิเคชัน SME Connext หลังจากที่ลงทะเบียนและได้รับ SME ONE ID เรียบร้อยแล้วจะสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ผ่านระบบขอรับบริการภาครัฐ ผ่านทางเว็บไซต์ https://oneid.sme.go.th ซึ่งเป็นแหล่งรวมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไว้ ทั้งด้านการเพิ่มผลิตภาพ /ลดต้นทุน ด้านการขยายช่องทางการตลาด และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนตามที่กล่าวมา ซึ่งอยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการมาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐได้สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น
ด้านนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA กล่าวว่า DGA เป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล เราพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของทุกหน่วยงานเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โครงการในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เราเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ให้บริการจึงสมควรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้และเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การบูรณาการข้อมูลภายใต้ระบบงานบริการ SME One ID ยังสามารถขยายกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของการส่งเสริม MSME ในภาพรวมทั้งประเทศได้ด้วย
ในส่วนการดำเนินงานที่ DGA ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) อยู่เดิมแล้ว ได้แก่ ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าลงทะเบียน SME ONE ID นั้น นอกจากจะลงทะเบียนในโครงการนี้ได้แล้ว Biz Portal ยังเป็นเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านระบบได้แบบครบวงจร ยื่นที่เดียว แบบฟอร์มเดียว เอกสารชุดเดียว และติดตามใบอนุญาตได้ โดยปัจจุบัน Biz Portal ได้ยกระดับสมรรถนะของระบบเพื่อให้บริการให้เป็นดิจิทัลโดยสมบูรณ์ (Fully Digital) และสามารถให้บริการด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต หรือเอกสารต่างๆ รวม 94 ใบอนุญาต 25 ประเภทธุรกิจ