กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) เพื่อยกระดับแนวทางการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ผ่านทางชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือชมรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย
ดังนั้น ภารกิจของชาว Green Youth คือ การดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเรียนรู้ ซึมซับ และปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต โดยเน้นการลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและขยายผลไปยังชุมชน สังคมโดยรอบ ซึ่งนับเป็นการกระตุ้นและผลักดันขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในระดับอุดมศึกษาให้เข็มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดยในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประเมินโครงการ Green Youth จำนวนทั้งสิ้น 59 แห่ง ซึ่งมีผลการประเมินโครงการฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับทอง จำนวน 5 แห่ง ระดับเงิน จำนวน 15 แห่ง ระดับทองแดง จำนวน 24 แห่ง และร่วมเป็นเครือข่าย Green Youth จำนวน 15 แห่ง
ผลงาน Green Youth ระดับทอง ที่นับเป็นต้นแบบเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
- มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มีการนำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ มาขึ้นรูปเป็นกระถางต้นไม้ พร้อมทดสอบคุณสมบัติกระถางและความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อพืชภายในกระถาง โดยนำทักษะความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ ช่วยสร้างมูลค่าจากขยะให้ตนเอง ชุมชน และสังคม
- มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้จัดกิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิล พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักศึกษา บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และชุมชนที่เป็นกลุ่มสำคัญในการนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้มาขาย ทำให้มีการคัดแยกประเภทขยะรีไซเคิลดียิ่งขึ้นและได้ลงมือปฏิบัติจริง
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่ได้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์และเกิดมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการนำถุงพลาสติกมาทำบล็อกปูถนนลวดลายต่างๆ การนำขวดน้ำพลาสติกและโฟมมาทำกระถางต้นไม้
- มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ได้จัดกิจกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากกิจกรรมควบคู่ไปด้วยกัน โดยใช้แนวคิดการขยายพันธุ์ไม้วิธีต่างๆ เช่น การตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ดพันธุ์ เพื่อทดแทนต้นไม้ที่ถูกตัดหรือนำไปใช้ประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีการรณรงค์การลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single –use Plastic) ด้วยคิดค้นแอพพลิเคชั่นในการสะสมแต้ม Green Point เมื่อนักศึกษาและบุคลากรใช้ถุงผ้าและ แก้วน้ำ/ภาชนะส่วนตัวในการซื้อของตามร้านค้าต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยสามารถนำมาแต้มที่สะสมมาแลกเป็นชั่วโมงกิจกรรมของนักศึกษา หรือแลกเป็นของรางวัลผลิตภัณฑ์รักษ์โลกต่างๆ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline