นายธีรภัทร เข็มทอง ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากที่กรมวิชาการเกษตรมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการวิจัย ค้นคว้าเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องพืช และปัจจัยการผลิตด้านพืชใน “โครงการพระราชดำริในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร” เป็นการนำผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่ได้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยที่ประสบความสำเร็จแล้วไปแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรเพื่อสนองพระราชดำริในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่เดิม และโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
ปัจจุบันมีโมเดลการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนา ของกรมวิชาการเกษตรที่ได้มีการทดลองจนประสบความสำเร็จในลักษณะสำเร็จรูปแล้วมากกว่า 250 โครงการ หากเกษตรกรมีปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เช่น โรค แมลง ผลผลิตไม่ดี และปัญหาอื่น ๆ สามารถเข้าไปศึกษาในโครงการพระราชดำริ รวมถึงใน 70 กว่าศูนย์ ที่เป็นศูนย์วิจัยพืช
และศูนย์วิจัยและบริการทางการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ได้ นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังมีการนำเกษตรกรมาเรียนรู้โดยการฝึกอบรมในโครงการพระราชดำริที่ได้มีการทดลองจนประสบความสำเร็จแล้ว เพื่อให้นำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลจริงในพื้นที่ของเกษตรกรด้วย
ตัวอย่างโครงการพระราชดำริที่โดดเด่น ที่เห็นผลอย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การดำเนินงานในศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์ฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการซึ่งกรมวิชาการเกษตรดูแลอยู่ และมีหน่วยงานร่วมบูรณาการถึง 14 หน่วยงาน มีเกษตรกรที่กรมเข้าไปดูแลใน 86 หมู่บ้าน รวม 7 ตำบล มีเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมและให้ความรู้แล้วกว่า 1,200 ราย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในเรื่องพืช สัตว์ และประมง เนื่องจากเป็นศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ โดยเกษตรกรบางรายในพื้นที่ได้ประสบความสำเร็จ และสามารถทำรายได้ถึงปีละ 2-3 ล้านบาท