สำหรับสถานการณ์น้ำ ปัจจุบัน (1 พ.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 41,765 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,256 ล้าน ลบ.ม. โดยได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน 2567 (วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม 2567) เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ ทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 14,821 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 4,949 ล้าน ลบ.ม.
ซึ่งกรมชลประทานส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมผลผลิตเสียหายได้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567 และในช่วงกลางเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกน้อย อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อช่วยประหยัดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งสำรองน้ำไว้ในช่วงฝนทิ้งช่วง
ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงตุลาคม 2567 คาดว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และอาจเกิดพายุหมุนเขตร้อน ที่จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้
กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา การระบายน้ำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงหมั่นตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังให้ตรวจสอบเส้นทางการระบายน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฝนปี 67 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์