21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

20 ตุลาคม 2565

21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า น้อมรำลึก ครบรอบ 122 ปี

วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี  เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมีความสำคัญ ดังนี้

พระราชประวัติ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สังวาลย์” เสด็จพระราชสมภพที่เมืองนนทบุรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ทรงเป็นบุตรคนที่สามในพระชนกชื่อ “ชู” และพระชนนีชื่อ “คำ” ทรงมีพระภคินีและพระเชษฐาร่วมพระอุทรสองคน ซึ่งถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์วัย และมีพระอนุชาคนเดียว คือคุณถมยา ซึ่งมีอายุน้อยกว่าพระองค์สองปี

การศึกษา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเรียนหนังสือเมื่อเริ่มแรกกับพระชนนีคำ และต่อมาทรงเข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงที่ตั้งขึ้นที่วัดอนงคารามที่อยู่ใกล้บ้าน  และต่อมาได้เสด็จไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีวิทยาจนถึงปี พ.ศ. 2456 ทรงจบชั้นประถมปีที่ 3 เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา และได้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

นักเรียนพยาบาล

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน พระองค์ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

เสด็จประเทศสหรัฐอเมริกา

ในช่วงเวลาที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงศึกษาและฝึกหัดการพยาบาลอยู่นั้น ได้มีความพยายามปรับปรุงกิจการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งของความพยายามนั้น คือการตระเตรียมครูทั้งฝ่ายแพทย์และพยาบาล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการฝึกหัดแพทย์และพยาบาลต่อไป

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางอุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ขณะนั้น คือนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา)

วันสมเด็จย่า 21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ทรงหมั้น อภิเษกสมรส พระราชธิดา และพระราชโอรส

ในการเสด็จไปเรียนที่สหรัฐอเมิรกาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ “นางสาวอุบล” ได้พำนักอยู่กับครอบครัวสตรองที่เมืองฮาร์ตฟอร์ด มลรัฐคอนเน็คติกัต และเข้าเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนอร์ธเวสเทิร์น (North Western) เพื่อฝึกฝนทักษะการพูด การอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษให้ชำนาญก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และเพื่อให้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ตลอดจนความคิดจิตใจของชาวอเมริกันให้ดีขึ้น

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงห่วงใย และมักเสด็จมาเยี่ยมนักเรียนหญิงทั้งสองคนในวันอาทิตย์ และเมื่อเวลาผ่านไป สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพอพระทัยในสมเด็จพระบรมราชชนนีมากขึ้นทั้งในพระสิริโฉมและพระอุปนิสัย ความรู้ความสามารถ ความเฉลียวฉลาด รวมทั้งพระคุณสมบัติอื่นๆ จนในที่สุดได้ทรงมีลายพระราชหัตถ์ กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้น "นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ” เมื่อทรงได้รับอนุญาต จึงทรงหมั้น "นางสาวสังวาลย์” อย่างเงียบๆ ในปีพ.ศ. 2462 ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ทรงจัดพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับที่สหรัฐอเมริกา สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและที่สถาบันเอ็มไอที (MIT Massachusetts Institute of Technology) ระหว่างที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จไปศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ (Simmons College)

ในภาคฤดูร้อนที่สถาบันเอ็มไอที ในปี พ.ศ. 2464 สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข (Certificate of Public Health C.P.H.) จากนั้นได้เสด็จพร้อมด้วยหม่อมสังวาล ไปยุโรปเพื่อท่องเที่ยว ดูงาน และทรงเจรจากับผู้แทนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เรื่องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อพัฒนาปรับปรุงการศึกษาด้านการแพทย์ของ ไทยเข้าสู่มาตรฐานระดับอุดมศึกษา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนกกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากขณะนั้นสมเด็จพระราชปิตุจฉาฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระบรมราชชนกประชวรพระวักกะ (ไต) และเสด็จออกไปรักษาพระองค์ยังประเทศอังกฤษ และทรงพักฟื้นที่ประเทศฝรั่งเศส สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ตามเสด็จ ฯ ด้วย

ขณะประทับอยู่ที่กรุงปารีส สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพระประชวร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงเฝ้าดูแลพระอาการ เมื่อหายจากพระอาการประชวรแล้ว ก็ได้ตามเสด็จไปยังสก็อตแลนด์ เพื่อสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองเอดินเบอระ แต่เนื่องจากอากาศหนาวจัด ทำให้ทรงพระประชวรจึงต้องทรงเลิกเรียน ระหว่างนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระราชธิดาได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล”

ต่อมาทั้งสามพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2466 โดยสมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกระทรวงธรรมการ ตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย พระองค์ตรากตรำทรงงานหนักเกินพระกำลังทำให้ทรงมีพระพลานามัยทรุดโทรม แพทย์ถวายความเห็นให้เสด็จไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ จึงได้เสด็จไปทวีปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง ในการเสด็จยุโรปครั้งนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและพระราชธิดาได้ตามเสด็จไปประทับที่เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมัน ที่ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์แรกเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า "หม่อมเจ้าอานันนทมหิดล”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดาได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ไปสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาวิชาการแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และที่ประเทศสหรัฐอเมริกานี้ พระโอรสพระองค์ที่สอง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช”

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์

ขณะที่ทรงศึกษาวิชาแพทย์ในปีสุดท้ายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระบรมราชชนกทรงประชวรโรคพระวักกะกำเริบและพระโรคหวัด แต่ก็ทรงสามารถสอบไล่ได้ปริญญาแพทยศาสตร์ (Doctor of Medicine) ขั้นเกียรตินิยม ในปีพ.ศ. 2471  หลังจากทรงสอบเสร็จ ทรงพระประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบ ทรงต้องรับการผ่าตัด สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เฝ้าดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด เมื่อหายจากพระอาการประชวร ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยพร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2471 โดยประทับที่พระตำหนักใหม่ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนก โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในวังสระปทุมด้านถนนพญาไท

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับเชิญจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่จังหวัดเชียงใหม่ เสด็จไปทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2472 เมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชแล้ว ได้ทรงมีพระอาการประชวรและต้องประทับรักษาพระองค์ที่กรุงเทพ ฯ

สมเด็จพระบรมราชชนกประชวรอยู่เป็นเวลา 4 เดือน ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ณ พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม

เมื่อ สมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุเพียง 29 พรรษา ต้องทรงรับพระราชภาระอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ซึ่งยังทรงพระเยาว์ ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชธิดาองค์โตทรงมีพระชนมายุ 6 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระราชโอรสองค์ที่สองทรงมีพระชนมายุ ครบ 4 พรรษา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมายุเพียง 1 พรรษา 9 เดือน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาอย่างใกล้ชิดด้วยความเอาพระทัยใส่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเสวย บรรทม การศึกษาเล่าเรียน หรือเล่น โดยทรงเน้นเรื่องการอนามัย และการมีระเบียบวินัย  เมื่อพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์เจริญพระชนมายุขึ้น ก็โปรดให้ทรงเข้าศึกษาตามลำดับ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงประทับอยู่ในประเทศไทยจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา ไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่ออนาคตทางการศึกษาของพระราชโอรสธิดาทั้งสามพระองค์

หนึ่งปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ  เมื่อวันที่ 2  มีนาคม  พ.ศ.2477  โดยทรงสละพระราชสิทธิในการแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติ  และทรงเห็นควรว่าต้องให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ให้ "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล”  พระโอรสองค์โตของสมเด็จพระบรมราชชนนี เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์  เป็นพระองค์ที่ 8  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  ตั้งแต่วันที่ 2  มีนาคม  พ.ศ. 2477  ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระชนมายุเพียง  9  พรรษา และยังคงประทับ  ณ  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป  เพื่อทรงศึกษาต่อ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2481  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ และสมเด็จพระอนุชาธิราช (คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) และเมื่อเสด็จฯ ถึงประเทศไทยได้หนึ่งวัน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศ พระราชชนนีศรีสังวาลขึ้นเป็น"สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2481

ทั้ง 4 พระองค์ประทับอยู่ในประเทศไทยในระยะเวลาอันสั้น  ก็ต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สองพร้อมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 20  พรรษา การเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยในครั้งนี้ ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีต้องทรงประสบกับความโทมนัสอย่างใหญ่หลวงในพระชนม์ชีพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ในวันที่ 9 มิถุนายน  พ.ศ.  2489  กราบบังคมทูลเชิญ “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” พระราชโอรสพระองค์ที่สอง ขึ้นครองสิริราชสมบัติ  เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่  9  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ด้วยพระชนมายุเพียง  18  พรรษา  โดยมีสมเด็จพระบรมราชชนนีรับพระราชภาระถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2490 ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ได้ทรงลงทะเบียนเรียนแบบ audit ที่มหาวิทยาลัยนี้ด้วย ทรงศึกษาวิชาปรัชญาวรรณคดีฝรั่งเศส ภาษาบาลี และสันสกฤต หลังจากที่พระโอรสทรงอภิเษกสมรสใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงย้ายจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนาที่ประทับของพระองค์และพระโอรสที่เมืองพุยยี่มา ประทับ ณ แฟลตเลขที่ 19 ถนนอาวองโปสต์ ในเมืองโลซานน์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จกลับประเทศไทยในปลาย พ.ศ. 2494 สมเด็จพระบรมราชชนนียังคงประทับที่โลซานน์จนถึง พ.ศ. 2506  ช่วงนี้ได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งคราว ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ใน พ.ศ. 2507  ได้เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยพร้อมกับเริ่มเสด็จประพาสหัวเมืองและเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ได้ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อประชาชนยากจนด้อยโอกาส นับจาก พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา

สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงงานในชนบทมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ  และเสด็จสวรรคตในวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538  ในด้านพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรสมเด็จพระบรมราชชนนีโปรดการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย โปรดการทรงงานด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เสมอ ทรงใช้จ่ายประหยัดเพื่อนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการกุศล โปรดการเดินป่า ปีนเขา ทอดพระเนตรดอกไม้และทิวทัศน์ธรรมชาติ ทรงเป็นคนเข้มแข็งและเป็นคนตรง ทรงเน้นการพึ่งตนเองและการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทรงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ทรงใฝ่รู้ศึกษาวิชาการต่างๆ  มาตลอดพระชนม์ชีพ ทรงเลื่อมใสศรัทธาและศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทรงฝึกสมาธิและทรงดำเนินพระชนม์ชีพอยู่ในธรรมะ ไม่ทรงยึดถือในลาภ ยศ สรรเสริญ เคยมีรับสั่งว่า “คนเราไม่ควรลืมตัว ไม่อวดดี ไม่ถือว่าตนเก่ง”

สวรรคต

สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระประชวรโรคพระหทัย และเสด็จเข้ารักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 รวม พระชนมายุ 94 พรรษา 8 เดือน 27 วัน

กิจกรรมที่ปฏิบัติ

  • จัดพิธีทางศาสนา ทำบุญตักบาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล พิธีถวายพานพุ่มดอกไม้สด 

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี