อย.ลุย ตรวจโกดัง 'พริกทอด' กรณีดราม่า 'พิมรี่พาย' เข้าข่ายร่วมผลิต
สืบเนื่องจากดราม่า! พริกทอด “พิมรี่พาย” กินแล้วท้องเสีย พลิกหลังถุงสุดงง ผลิตปี 2023 กลายเป็นพริกทอดจากโลกอนาคต
ส่งผลให้ทาง อย.ลุย ตรวจโกดัง ‘พริกทอด’ จากอนาคต หลังพบติดฉลากผลิตจากปี 66 หาก ‘พิมรี่พาย’ ว่าจ้างผลิตในแบรนด์ตัวเอง โดยกรณีดังกล่าว นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
วันที่ 7 ก.ค.65 ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์กรณีข่าว “พริกทอด” ของ ‘พิมรี่พาย’ แม่ค้าขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง ที่ระบุวันที่ผลิตล่วงหน้าเป็นปี 2566 ว่า อาหารที่ผลิตขึ้นจะมีทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย อาจเป็นบริษัทเดียวกันหรือไม่ก็ได้ แต่จะไม่รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ไปรับของมาขายอีกที
เบื้องต้นมองอย่างเป็นกลางว่า กรณีนี้อาจไม่ได้เจตนา แต่เกิดจาก Human Error อาจเป็นความเลินเล่อและไม่มีระบบตรวจสอบ (QC) ของบริษัทหรือโรงงานผลิต เพราะหากจะติดฉลากวันที่ผลิตล่วงหน้า เต็มที่ก็ล่วงหน้า 1 เดือน ซึ่งคงไม่มีใครตั้งใจติดวันผลิตล่วงหน้าเป็นปี อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 6(10) พ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาทอย่างเดียว
“อย่างที่บอกว่าไม่เกี่ยวกับคนขาย ดังนั้น หากพิมรี่พายเป็นคนขายสินค้า แต่ไม่ใช่เจ้าของโรงงานผลิต เท่ากับเป็นผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าคนอื่นมาขาย แต่ถ้าพิมรี่พายไปจ้างโรงงานผลิตสินค้าให้เป็นแบรนด์ตัวเองก็จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้จัดจำหน่าย” ภก.วีรชัยกล่าว
ภก.วีระชัยกล่าวว่า การตรวจสอบเบื้องต้นของพิมรี่พายพบว่า มีความเกี่ยวข้องในโรงงานผลิต 2 แห่ง คือ สมุทรสาคร และ กทม. ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่ อย.ส่วนกลางได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเบื้องต้นแล้วในพื้นที่ กทม. โดยจะเข้าไปเก็บหลักฐานพยานที่เกิดขึ้นว่า พริกทอดที่อยู่ในสถานที่ผลิตหรือโกดังสินค้านั้นๆ เป็นไปตามข่าวหรือไม่ และประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสาครให้ตรวจสอบอีกแห่งแล้ว
ส่วนที่ผู้บริโภคพริกทอดแล้วท้องเสีย ตามหลักวิชาการหากกินอาหารรสจัดก็มีโอกาสระคายเคืองระบบทางเดินอาหารและอาจทำให้ท้องเสียได้ โดยเฉพาะพริกมีสารแคปไซซิน การที่ท้องเสียเกิดได้จากการกินอาหารที่ระคายเคือง อาจไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรกอย่างเดียว
เมื่อถามว่ากรณีสินค้าของพิมรี่พายมีผู้บริโภคแจ้งข้อผิดพลาดเข้ามามาก อย.จะดำเนินการอย่างไร ภก.วีระชัย กล่าวว่า การขายออนไลน์โดยไลฟ์สดที่บ้านหรือโกดัง เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ต่างจากการตั้งร้านขายในที่สาธารณะ ซึ่งการขายในพื้นที่ส่วนบุคคล อย.ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จนกว่าจะมีหมายศาลจากผู้เสียหาย มีข้อมูลและหลักฐานความผิดจริงๆ ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์ เช่น ผู้ที่กินอาหารนั้นแล้วมีอาการป่วยแพทย์ชี้ชัดว่าเกิดจากอาหารนั้น
ถามว่าขั้นตอนต่อไปต้องเชิญพิมรี่พายมาให้ข้อมูลหรือไม่ ภก.วีระชัย กล่าวว่า ต้องรอเจ้าหน้าที่ส่วนกลางลงไปตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานพื้นที่ เพราะเราไม่สามารถใช้เพียงภาพในข่าวมาดำเนินคดีกับใคร ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่ลงไปแล้ว หากมีห่อพริกทอดตามข่าวจริง ก็จะประมวลหลักฐานแล้วแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นโทษปรับสถานเดียว อย.มีอำนาจดำเนินคดีได้เลย