จากกรณกรณีผู้เสียหายกว่า 1,900 ราย ถูกหลอกลงทุนฟาร์มเห็ดมูลค่าความเสียหายกว่า 1,290 ล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุดในวันที่ 2ส.ค.65 กลุ่มผู้เสียหายกว่า 60 คน เข้าแจ้งความหลังถูก บริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัดสถานีหลักสี่ หลอกลงทุนทำฟาร์มเกษตร ในชื่อโครงการ “Turtle farm” ซึ่งโครงการดังกล่าว จะมีประเภทฟาร์มเกษตรให้เลือกลงทุนหลายประเภท เช่น ฟาร์มเห็ด ฟาร์มเลี้ยงผึ้ง ฟาร์มกัญชา และฟาร์มกระท่อม เป็นต้น
โดยแต่ละประเภทของการลงทุนจะกำหนดวงเงินลงทุนไว้ มีตั้งแต่ขั้นต่ำหลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งแต่ละวงเงินลงทุน จะมีระยะเวลาปันผล และเงินปันผล แตกต่างกัน สำหรับพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหา จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน , กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน , และ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ผอ.ศปอส.ตร.) หรือ PCT เรียกประชุมด่วนคลี่คลายคดีหลอกลงทุนธุรกิจเกษตรฟาร์มเห็ด หลังพบผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว 1,867 ราย ความเสียหายกว่า 1,290ล้านบาท
รอง ผบ.ตร. สั่งการให้เร่งทุกหน่วยสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี ประสาน ปปง. ติดตามยึดเงินคืนให้ผู้เสียหาย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทธุรกิจฟาร์มเห็ดแห่งหนึ่ง ใน จว.สกลนคร หลอกชักชวนคนนำเงินมาลงทุนทำฟาร์มเห็ด ในรูปแบบฝากเลี้ยงเห็ด คล้ายกับผู้ลงทุนเป็นเจ้าของโรงเพราะเห็ด ฟาร์มจะเป็นผู้ดูแลให้ โดยผู้ลงทุนแค่ออกเงินให้ผลตอบแทนสูง 18 - 30 % ต่อเดือน มีการนำดาราผู้มีชื่อเสียงมาโฆษณาทำให้น่าเชื่อถือ ช่วงแรกมีการปันผลจริง
แต่ต่อมาผิดนัดสัญญา เมื่อสอบถามทางบริษัทอ้างว่าธนาคารอายัดบัญชีจึงไม่สามารถจ่ายให้กับผู้ลงทุนได้ มีผู้เสียหายจำนวนมากทยอยเข้าแจ้งความ ที่ สภ.เมืองสกลนคร, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์, บก.ปอศ. และสถานีตำรวจพื้นที่ทั่วประเทศ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวว่า คดีนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งการให้อำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียหาย เนื่องจากมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเรียกประชุมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บช.สอท., บช.ก. และ บช.น., ภ.1 - 9 เร่งรัดการสืบสวน ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และกำหนดแนวทางในการสอบสวน
มอบหมายให้ บก.สอท.1 เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบคดีทั้งหมด หากผู้เสียหายไม่สะดวกเดินทางมาให้การที่ บก.สอท.1 ก็จะอำนวยความสะดวกโดยการส่งประเด็นการสอบสวนไปให้ตำรวจพื้นที่ที่ผู้เสียหายสะดวก ช่วยสอบปากคำแทน สำหรับผู้เสียหายที่ยังไม่ได้มาแจ้งความ สามารถเดินทางไปแจ้งความที่ บก.สอท.1 (ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) หรือ ตำรวจท้องที่ใดก็ได้ที่ท่านสะดวก หรือ ผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com ซึ่งจะมีการรวมเรื่องมาที่ บก.สอท.1 เช่นกัน
สำหรับเรื่องติดตามเงินคืนให้ผู้เสียหาย ขณะนี้ได้แจ้งอายัดบัญชีของผู้ต้องสงสัยไว้แล้ว และมีการทำงานร่วมกับ สำนักงาน ปปง. อย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบและติดตามยึดและอายัดทรัพย์สินคืนกลับมาให้กับผู้เสียหายโดยเร็ว และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้กับผู้เสียหายทราบโดยเร็วที่สุด
จากการสืบสวนทราบว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้เดินทางออกนอกประเทศไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 แล้ว ทั้งนี้จะได้เร่งออกหมายจับ และประสานตำรวจสากล หรือ Interpol นำตัวกลับมาดำเนินคดีโดยเร็ว
สำหรับพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหา จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน "ฉ้อโกงประชาชน", "กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน" และ "นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ" ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก จึงอยากฝากเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อใครง่าย ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินความเป็นจริงหรือการันตีรายได้ขั้นต่ำ ในความเป็นจริงไม่มีธุรกิจใดที่สามารถการันตีได้จริง หากสงสัยจะตกเป็นเหยื่อสามารถโทรปรึกษา สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews