จากกรณี ที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงไวรัสตัวใหม่ "ไวรัสเลย์วี" LayV ที่พบติดเชื้อในประเทศจีน โดยระบุว่า
"ก่อนที่ข่าวจะเริ่มออกมา พร้อมกับข้อมูลที่น่าวิตกกังวลสำหรับไวรัสตัวใหม่ที่ทางทีมวิจัยในจีน ได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร New England Journal of Medicine ขออนุญาตให้รายละเอียดคร่าวๆว่าไวรัสตัวนี้คืออะไร มีอะไรต้องน่ากังวลใจแค่ไหนนะครับ เอาข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้แบบไม่มีการคาดเดาอะไรไปล่วงหน้านะครับ
1. ชื่อเต็มๆของไวรัสตัวนี้ชื่อว่า Langya henipavirus เรียกย่อๆว่า LayV ไวรัสชนิดนี้อยู่ในกลุ่ม paramyxovirus มีไวรัสที่เรารู้จักกันในกลุ่มนี้เช่น ไวรัสโรคหัด และ ไวรัสคางทูม ไวรัสกลุ่มนี้มีไวรัสที่ก่อโรครุนแรงมากๆเช่นกัน เช่น Nipah and Hendra viruses ซึ่งทำให้คนติดเชื้อเสียชีวิตได้สูง แต่ความรุนแรงดังกล่าวทำให้การแพร่อยู่ในวงจำกัดเนื่องจากโฮสต์เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
2. ประเทศจีนพบการติดเชื้อไวรัส LayV ในคนครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2018 และ พบต่อมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันนับได้ 35 เคส ข้อมูลที่สำคัญคือ การระบาดไม่เกิดเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ แต่เป็นแบบกระจัดกระจาย แสดงว่า ไวรัสกระโดดจากสัตว์สู่คนได้ แต่ไวรัสจะแพร่จากคนสู่คนยังไม่ได้ หรือ ไม่ดี
3. ไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วยมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงมากๆกับไวรัสที่แยกได้จาก Shrew หรือ ภาษาไทยเรียกว่า หนูผี ทำให้เชื่อว่า หนูผีน่าจะเป็สัตว์ตัวกลางที่แพร่เชื้อดังกล่าวมาให้คน แต่อาจเป็นไปได้ว่า สัตว์ชนิดอื่นอาจจะเป็นแหล่งรังโรคของไวรัสนี้ได้เช่นกัน
4. อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ LayV จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย บางรายอาจมีการทำงานของตับและไตลดลง ยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อเสียชีวิต
สรุปสั้นๆคือ ไวรัส LayV ติดคนได้จากสัตว์ตัวกลาง ยังไม่มีหลักฐานการแพร่จากคนสู่คน อาการไม่รุนแรงมากยังไม่มีผู้เสียชีวิต และประเด็นเรื่องความรุนแรงที่มีสื่อต่างประเทศพยายามใส่ข้อคิดเห็นลงมาเพื่อขายข่าว อ้างอิงมาจากไวรัส Nipah ซึ่งไม่ใช่ไวรัส LayV ต้องใส่เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆกำกับไว้เลยครับว่าไม่น่าจะมีอะไรมายืนยันข้อมูลนี้"
ขอบคุณ Anan Jongkaewwattana
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews