กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก และปราจีนบุรี เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. - 10 ก.ย. 65 พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ด้านท้ายน้ำ เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำท่าและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 34/2565 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 แจ้งว่า ระดับน้ำในแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ท้ายจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในวันที่ 3 - 8 กันยายน 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก รวมถึงจากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 10 กันยายน 2565 ดังนี้
1.พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร
1.1 ลุ่มน้ำชี
- ลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร ภูเขียว และบ้านแท่น)
- แม่น้ำชีและลำน้ำพอง บริเวณจังหวัดขอนแก่น (อำเภอแวงน้อย แวงใหญ่ โคกโพธิ์ไชย ชนบท มัญจาคีรี บ้านไผ่ บ้านแฮด พระยืน และเมืองฯ) มหาสารคาม (อำเภอโกสุมพิสัย เชียงยืน กันทรวิชัย และเมืองฯ) กาฬสินธุ์ (อำเภอฆ้องชัย กมลาไสย และร่องคำ) ร้อยเอ็ด (อำเภอจังหาร และเชียงขวัญ) และยโสธร (อำเภอเมืองฯ คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และค้อวัง)
- ลำน้ำยัง บริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเขาวง นาคู และกุฉินารายณ์) ร้อยเอ็ด (อำเภอโพนทอง และเสลภูมิ)
1.2 ลุ่มน้ำมูล
- แม่น้ำมูล บริเวณจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอแก้งสนามนาง) ศรีสะเกษ (อำเภอราษีไศล ยางชุมน้อย และกันทรารมย์) และอุบลราชธานี (อำเภอวารินชำราบ และเมืองฯ)
- ลำโดมใหญ่ บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอนาจะหลวย เดชอุดม และนาเยีย)
- ลำเซบก บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอตระการพืชผล และดอนมดแดง)
2. พื้นที่เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 14 จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วง 24 ชั่วโมง และจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง พร้อมตรวจสอบและซ่อมแซมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำให้มั่นคงแข็งแรง และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ต้นน้ำ อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews