รมว.ศึกษาธิการ สั่งตั้ง กก.สอบ ปม "ด.ญ. 7 ขวบ" ถูกลืมบนรถตู้จนเสียชีวิต

01 กันยายน 2565

"ตรีนุช เทียนทอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีครู-คนขับรถ ลืม "น้องจีฮุน" วัย 7 ขวบ บนรถตู้จนเสียชีวิต

จากกรณีข่าวที่สะเทือนใจใครหลายๆคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหัวอกคนเป็นแม่ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565ที่ผ่านมา น้องจีฮุน เด็กหญิง 7 ขวบ  นักเรียนหญิงชั้น ป.2/2 ถูกคุณครูและคนขับรถลืมไว้ในรถตู้โรงเรียน ใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี จนเป็นเหตุให้น้องเสียชีวิต ซึ่งทางครอบครัวติดใจการเสียชีวิตของลูกสาว ขณะที่ด้านครูเวรยอมรับประมาทไม่ได้เช็กเด็กก่อน 

รมว.ศึกษาธิการ สั่งตั้ง กก.สอบ ปม  ด.ญ. 7 ขวบ ถูกลืมบนรถตู้จนเสียชีวิต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงกรณีน้องจีฮุน โดยระบุว่า ได้มอบหมายให้ นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ลงพื้นที่โรงเรียนเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงจริง พร้อมสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องของใคร เป็นความบกพร่องของโรงเรียน ครูที่ดูแลเด็ก หรือคนขับรถโรงเรียน และให้ตรวจสอบด้วยว่า ในการใช้รถโรงเรียนรับ-ส่งนักเรียน ทางโรงเรียนได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2562 หรือไม่  


โดย นางสาวตรีนุช ย้ำว่า นโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นเรื่องที่ดิฉันให้ความสำคัญมาโดยตลอด สถานศึกษาทุกแห่ง ทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอาชีวศึกษา เรื่องการลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียนจนทำให้เด็กเสียชีวิตก็ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็ได้มีการส่งหนังสือเวียนกำชับเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถโรงเรียนแล้ว

 

รมว.ศึกษาธิการ สั่งตั้ง กก.สอบ ปม  ด.ญ. 7 ขวบ ถูกลืมบนรถตู้จนเสียชีวิต

ทั้งนี้ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ในข้อ 11 กำหนดให้ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนมีหน้าที่ ดังนี้


1. ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับ-ส่งแต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อนักเรียน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ใช้บริการ


2. ประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน เพื่อควบคุมดูแลและช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทาง


3. รายงานให้ทางโรงเรียนทราบทันทีที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น เข้ารับการอบรมตามที่โรงเรียนหรือผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนกำหนด

 

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews