เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. /รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศจร.ตร.) เปิดเผยว่า ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโทษปรับที่กฎหมายใหม่เพิ่มอัตราโทษสูงขึ้น เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน บางความผิดมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 4,000.-บาท แต่ในห้วง 3 เดือนแรก ตร. จะยังใช้เกณฑ์ค่าปรับใบสั่งจราจรตามกฎหมายเดิมไปพลางก่อน (ตามประกาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องเกณฑ์ค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ พ.ศ.2563) เช่น ข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง แม้โทษสูงสุดตามกฎหมายใหม่จะปรับได้ถึง 4,000.-บาท แต่ค่าปรับตามใบสั่งจะกำหนดไว้ที่ 500.-บาท เพื่อให้เวลาประชาชนได้ปรับตัวและปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะปรับปรุงเกณฑ์ค่าปรับตามใบสั่งให้สอดคล้องกับกฎหมายจราจรฉบับใหม่ และบางข้อหาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หรือปัจจัยเกิดความสูญเสียต่อผู้ขับขี่ เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายทางม้าลาย ขับรถเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ตร. จะพิจารณากำหนดอัตราโทษปรับเป็นขั้นบันได ตามจำนวนครั้งและประวัติการกระทำผิดด้วย เช่น ทำผิดครั้งที่ 1 โทษปรับตามใบสั่ง 500.-บาท หากทำผิดข้อหาเดิมเป็นครั้งที่ 2 โทษปรับตามใบสั่งเป็น 1,000.-บาท เป็นต้น
พล.ต.อ.ปรีชาฯ กล่าวอีกว่า ใบสั่งทุกใบจะถูกกำกับโดยระบบฐานข้อมูลใบสั่งที่เรียกว่า PTM (Police Ticket Management) ซึ่งจะระบุจำนวนค่าปรับตามเกณฑ์ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ในใบสั่งทุกใบ ดังนั้น ค่าปรับจึงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
สำหรับเรื่องการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ตร. ได้พิจารณาตามหลักกฎหมายแล้ว จะไม่นำประวัติการกระทำผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 กันยายน 2565 มาประกอบการพิจารณาเพิ่มโทษ แต่จะเริ่มบันทึกประวัติการทำผิดครั้งแรกตั้งแต่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นไป ส่วนเรื่องการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยถือปฏิบัติตามมาตรฐาน SOP การตั้งจุดตรวจงานจราจร ตามที่ ตร. ได้กำหนดไว้แล้วอย่างเคร่งครัด
ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ และผู้ใช้ทาง ทำความเข้าใจกฎหมายจราจรฉบับใหม่ และร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ใช้ทางคนอื่น ๆ” พล.ต.อ.ปรีชาฯ กล่าว