ปรับแผนใหม่! แนวทางการรักษา "โควิด-19" โดยจะรองรับหลัง 1 ต.ค. 2565 นี้ เรียกเราต้องเผชิญกับ โรคโควิด-19 มาเป็นเวลากันถึง 3 ปีแล้ว ซึ่งในประเทศไทยจะปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง และจะยกเลิกพรก.ฉุกเฉินและยุบศบค. โดยการบริหารจัดการจะกลับมาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ภายใต้พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดสธ.นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าว “เตรียมความพร้อม การป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - ยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย 2565 เป็นต้นไป”
นายอนุทิน กล่าวว่า ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันมากกว่า 92 % จากการฉีดวัคซีน กว่า 143 ล้านโดสและการติดเชื้อตามธรรมชาติ ซึ่งแผนการเพื่อรองรับโควิด – 19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 57 จะใช้กลไกตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งการดำเนินงานระดับชาติและระดับพื้นที่ แต่ลดความเข้มข้นมาตรการต่างๆ ลง เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยระยะที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือนและคาดว่าจะมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
“ประชาชนสามารถรับบริการการรักษาฟรีได้ตามสิทธิ ตามขั้นตอน ตามมาตรฐาน ตามดุลยพินิจของแพทย์เต็มที่ ยา วัคซีนก็พร้อม หากมีภาวะฉุกเฉินก็สามารถใช้สิทธิยูเซ็ปเข้ารักษาสถานพยาบาลที่ไหนก็ได้”นายอนุทินกล่าว
คาดปี 66 เพิ่ม-ลดตามฤดูกาล
นพ.โอภาส กล่าวว่า ปี 2566 คาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะพบได้ 1-2 ครั้งตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยระบบเฝ้าระวัง ประกอบด้วย
1..เฝ้าระวังผู้ป่วยในรพ.
2.เฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน และมีทีมลงไปสอบสวนโรค และพิจารณาประกาศเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเ/กทม.ป็นคนควบคุม
3.เฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานบันเทิง แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาดขนาดใหญ่
4.เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ สุ่มตัวอย่างส่งตรวจเพื่อหาความชุกและตรวจจากผู้ป่วยอาการุรนแรง ผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อซ้ำ
การฉีดวัคซีน-ATK-หน้ากากอนามัย
ประชาชนสามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯกำหนด ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยฉีดทุกคนตามเกณฑ์ด้วยความสมัครใจ และเน้นฉีดในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และโรคเรื้อรัง ตามคำแนะนำสธ. และขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก หรือสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่เบื้องต้นวางแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้งแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ส่วนการตรวจATK ให้ตรวจในผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ล้างมือ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น กรณีประชาชนทั่วไป แนะนำให้สวมหน้ากาก เมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ถายเท ส่วนกรณีอื่นๆ ความเสี่ยงอาจลดลง ซึ่งกรมอนามัยจะออกคำแนะนำต่อไป และให้ตรวจATK เมื่อมีอาการป่วยและสงสัย ตามความจำเป็น และไม่แนะนำให้ตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการป่วย
เตียง-ยาเพียงพอ
สำหรับความพร้อมเรื่องเตียง ยาในการให้บริการ นพ.สุระ กล่าวว่า ข้อมูล วันที่ 25 ก.ย.2565 สถานการณ์เตียงมีประมาณ 73,000 เตียง สามารถขยายได้ถึง 1.4 แสนเตียง มีคนไข้นอนรักษาในรพ. 4,802 คน คิดเป็น 6% ของเตียงทั้งหมด โดยกว่า 90% อาการไม่รุนแรง ส่วนเตียงผู้มีอาการระดับ 2.2 และ 2.3 มีประมาณ 10%
ส่วนสถานการณ์ ยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด อัตราการใช้เฉลี่ยต่อวัน 58,895 เม็ด เพียงพอใช้ 3.1 เดือน ซื้อเพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน ,ยาโมลนูพิราเวียร์ คงเหลือ 20 ล้านเม็ด อัตราการใช้เฉลี่ยต่อวัน 148,750 เม็ด เพียงพอใช้ 4.5 เดือน ซื้อเพิ่ม 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน และยาเรมเดซิเวียร์ คงเหลือ 23,451 ไวอัล อัตราการใช้เฉลี่ยต่อวัน 1,219 ไวอัล เพียงพอใช้ 0.6เดือน ซื้อเพิ่ม 3 แสนไวอัล เพียงพอใช้ 8.2 เดือน
ป่วยเข้าระบบรักษาฟรีตามสิทธิ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกองทุนประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าการรักษาอย่างเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ์ ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย แลป ยากิน ยาฉีด โดยทั้ง 3 กองทุนได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว กรณีผู้ป่วยโควิด-19ฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ UCEP PLUS สามารถรักษาได้จนหาย สำหรับสถานพยาบาลชั่วคราว เช่น การดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation)/ที่ชุมชน (Community Isolation) ฮอสปิเทล และ Hotel Isolation จะยุติทั้งหมดในสิ้นเดือนก.ย.นี้ แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินก็ประกาศเปิดใหม่ได้ ส่วนแรงงานต่างด้าว กรณีมีประกันสุขภาพก็ให้ใช้สิทธิประกันฯ แต่หากไม่มีก็จ่ายค่ารักษาเองตามระบบ
ปรับแนวทางรักษา 3 กลุ่ม
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางรักษาโควิด-19ฉบับปรับปรุงล่าสุด ที่จะเสนอเข้า EOC สธ.ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และเริ่มใช้ 1 ต.ค. เป็นต้นไป แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.ผู้ป่วยไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก และปฏิบัติตามมาตรการ DMHT 5 วัน ไม่ให้ยาต้านไวรัส
2.ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง ไม่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT เคร่งครัด 5 วัน อาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยควรเริ่มเร็วที่สุด
3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ(อาจมีอาการเล็กน้อย ปอดอักเสบเล็กน้อย) หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง พิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์ ให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง คือ แพกซ์โลวิด เรมเดซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์