จากกรณีโศกนาฎกรรมกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญที่ทั่วโลกต่างจับตา ทำให้เรื่อง "อาวุธปืน" กลายเป็นประเด็นที่โลกให้ความสนใจ และพบว่าประเทศไทยติดกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก
จากรายงานข้อมูลขององค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา (Small Arms Survey) หรือ SAS ที่มีสำนักงานอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ระบุว่าในระดับสากล ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 50 ในแง่ของการครอบครองปืนของพลเรือนต่อหัว เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนของพลเรือนที่ครอบครองปืน 120 กระบอกต่อประชากร 100 คน และไม่มีประเทศใดที่จำนวนปืนที่อยู่ในความครอบครองของพลเรือนมากกว่าจำนวนประชากร
ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนปืน 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คน แต่ถ้าเป็นระดับอาเซียน การครอบครองอาวุธปืนถูกกฎหมายในประเทศไทย ค่อนข้างอยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยปืนที่พลเรือนในไทยถือครองและจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย มีจำนวนกว่า 10.3 ล้านกระบอก หรือเฉลี่ย 15 กระบอกต่อประชากรทุก 100 คน แต่มีปืนเถื่อนอีก 6.2 ล้านกระบอก
ด้านสถาบันเพื่อการวัดและประเมินสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) หรือ IHME ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน รายงานผลวิจัยเรื่องภาระโรคของโลก (global burden of disease) เมื่อปี 2562 ว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 ในกลุ่มอาเซียนโดยเป็นรองจากฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน
ส่วนเว็บไซต์ World Population Review เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 มีผู้เสียชีวิต 2,804 คน โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ 5 อันดับแรก ของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ได้แก่ บราซิล (มากกว่า 49,000 คน) อันดับ 2 สหรัฐฯ (37,000 คน) ตามด้วย เม็กซิโก อินเดีย โคลอมเบีย ส่วนระดับอาเซียน ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุด (9,267 คน)
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews