ภัยอันตรายที่อาจเกิดได้แก่
- ไฟรั่วจากอุปกรณ์/เครื่องใช้ที่มีไฟฟ้า โดยเฉพาะบริเวณมีน้ำท่วมขัง
- ถูกฟ้าผ่า
กระแสไฟฟ้าที่เข้าสู่ร่างกายจะทำอันตรายต่อการทำงานของหัวใจและสมอง ทำให้คลื่นหัวใจเต้นผิดปกติและเกิดหัวใจวายเฉียบพลันได้ ต้องรีบปฐมพยาบาลโดยเร็ว
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกกระแสไฟฟ้า
1. นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ถูกไฟดูด/ไฟช็อตให้เร็วที่สุด
ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือต้องป้องกันอันตรายไฟฟ้าดูด และห้ามตัวเปียกชื้นเพราะอาจเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าและถูกไฟฟ้าดูดได้
เมื่อพบแหล่งไฟฟ้ารั่วให้ตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อน กรณีผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดและมีสายไฟพาดผ่านตัวต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ หรือ ผ้า เพื่อนำสายไฟนั้นให้พ้นจากตัวผู้ป่วยก่อนเข้าไปช่วยเหลือ ย้ำว่าไม่ควรใช้มือเปล่าหรือส่วนของร่างกายที่ไม่มีฉนวนหุ้มจับต้องกับตัวผู้ป่วยหรือสายไฟ
หากไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่ทราบวิธีช่วยเหลือ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
2. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุ
ผู้ป่วยที่ถูกไฟดูดอาจมีการได้รับบาดเจ็บอื่นร่วมด้วย เช่น พลัดตกจากที่สูง ทำให้มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือกระดูกส่วนต่างๆ หัก เช่น กระดูกคอ กระดูกแขนขา หรือกระดูกสันหลัง
การเคลื่อนย้ายต้องใช้ความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการพิการหรืออัมพาต ดังนั้นควรให้ผู้ที่มีความรู้เป็นผู้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุ
3. ขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669
เมื่อนำผู้ป่วยออกมายังที่ปลอดภัยแล้ว พบว่าผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจหรือหายใจผิดปกติ ควรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และทำการปั้มหัวใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น (หากทำได้)
สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ สิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง หากเกิดอุบัติเหตุสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ(สถานพยาบาล)ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกแห่ง โดยสามารถใช้สิทธิได้กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน
หรือหากมีอาการฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาในรพ.ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัยแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือติดต่อแจ้งเหตุที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) 1669 เพื่อประเมินอาการ
ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช