นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมหลับ หรือ Narcolepsy เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงมากในตอนกลางวันแม้ว่าตอนกลางคืนจะนอนหลับสนิทก็ตาม และบางครั้งพบว่ามีการนอนหลับเกิดขึ้น ในสถานการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เกิดขึ้นขณะพูดคุยกับบุคคลอื่น ขณะรับประทานอาหาร ทำงาน เรียน เล่นเกมส์ หรือ ขับรถ อาจเกิดอันตรายได้ สาเหตุของโรคในทางการแพทย์
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดจากความผิดปกติของสาร สื่อประสาทที่ชื่อ โอเร็กซิน (Orexin) ที่ทำหน้าที่ควบคุม
การตื่นของร่างกาย ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สารเคมีชนิดนี้ลดลง ส่งผลให้มีอาการหลับง่ายกว่าปกติ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติด้านการนอนหลับ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการแสดงที่สำคัญนอกจากจะมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติตอนกลางวันแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ภาวะผีอำ หรือ sleep paralysis โดยที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตอนที่กำลังใกล้จะตื่น
และมีอาการเห็นภาพหลอนตอนขณะเคลิ้มหลับ แพทย์วินิจฉัยโรคจากการสอบถามประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคลมหลับ ในรายที่แพทย์สงสัยอาการเข้าได้กับ
โรคนี้จะให้ผู้ป่วยบันทึกการนอนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) ร่วมกับการตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test) ในปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถให้การรักษา เพื่อบรรเทาอาการได้ โดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติ