รวบ "พ.ต.ท.-จนท.กระทรวง" ขายข้อมูลคนไทยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากกรณี วันที่ 28 ต.ค.65 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต. วริศร์สิริภ์ ลีละสิริ ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองผบก.สอท.1 ร่วมกันเปิดเผยกรณีตรวจพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ โดยได้มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า จากปฏิบัติการ "เด็ดปีกมังกร" จับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาของทางบช.สอท. สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 ราย เป็นกลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า 8 ราย กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าเพื่อส่งต่อให้นายทุนชาวจีน 1 ราย และกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 ราย
โดยระบุว่า ผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 รายดังกล่าว เป็นเจ้าที่รัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเข้าบัญชีของเจ้าที่รัฐทั้ง 2 รายอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทำมานานพอสมควร โดยมีข้อมูลของคนไทยถูกฉกไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 1,000 ข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย อยู่ในส่วนงานที่สามารถดูฐานข้อมูลของผู้เสียหายได้
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกจับรายแรก เป็นตำรวจ ยศ พ.ต.ท. พฤติการณ์ คือจะเข้ารหัสไปกดดูฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของผู้เสียหาย โดยพบว่าเข้าไปกดดูมากจนนับครั้งไม่ถ้วน ส่วนรายที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ของกระทรวงแห่งหนึ่งจะเข้าระบบไปล้วงข้อมูลการจดทะเบียนการค้า หรือตราธุรกิจของผู้เสียหาย ไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะดูข้อมูลว่าเหยื่อว่ารายใดรวย มีทุนจดทะเบียนทางธุรกิจด้วยเงินจำนวนมากแล้วจึงนำค่อยนำข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์
ซึ่งทั้ง 2 ราย จะมีรายได้จากการขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน วันละ 20,000 บาท หรือเดือนละ 600,000 บาท ซึ่งทางธนาคารพบการเคลื่อนไหวของเงินจากบัญชีม้า เข้ามายังบัญชีของผู้ต้องหา จึงประสานตำรวจตรวจสอบ และนำไปสู่การจับกุม ดังกล่าว
สำหรับผู้เสียหายรายล่าสุด ที่ถูกฉกข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปขาย ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นหมอ อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำปลอมเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้วโทรแจ้งผู้เสียหายว่าทำความผิดคดีอาญาจะต้องถูกตรวจสอบเงินในบัญชี พร้อมส่งหมายจับปลอมที่มีภาพใบหน้าของผู้เสียหาย และข้อมูลทางธุรกิจำปให้ผู้เสียหายดู ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีมาจำนวนกว่า 6,970,000 บาทก่อนจะมารู้ภายหลังว่าถูกหลอกแจ้งความออนไลน์เมื่อ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามขอฝากเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไปได้อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยที่มีคนนำมามอบให้ เพื่อแลกกับข้อมูลที่ท่านสามารถเข้าถึงได้และไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของท่าน เพราะหากตรวจพบว่าข้อมูลนั้นถูกกลุ่มคนร้ายนำไปใช้ประโยชน์ท่านก็จะถูกจับกุมดำเนินคดี และมีโทษตามกฎหมายที่หนักมากยิ่งขึ้นกว่าคนทั่วไป
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews