จากกรณี พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ รอง ผบช. สตม. แถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงวันที่10 ต.ค.-12 พ.ย.65 โดยมีเป้าหมายหลัก เป็นคนต่างด้าวที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
ทางเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมคนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดอนุญาต (Overstay) ได้ทั้งสิ้น 785 ราย /จับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 1,249 ราย/ดำเนินการประชาสัมพันธ์การแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในพื้นที่ กทม. จำนวน 2,723 แห่ง และมีผลการเปรียบเทียบปรับ กรณีเจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองเคหะสถานไม่แจ้งที่พักอาศัยกรณีรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัยตาม ม.38 จำนวน 587 ราย /สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย บก.ตม.2 มีการปฏิเสธคนต่างด้าวในการขอเข้าฃมาในราชอาณาจักรไทย จำนวน 2,453 ราย
คดีที่ 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกับ ตำรวจท่องเที่ยว เปิดปฏิบัติการ Operation X-ray พื้นที่ หาคนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ในวันพุธที่ 9 พ.ย. 65 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น เขตหลักสี่ และพื้นที่จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผลการปฏิบัติ สามารถจับกุมบุคคลต่างด้าวที่อยู่เกินกำหนดอนุญาต (Overstay) จำนวน 7 ราย จับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง จำนวน 1 ราย เปรียบเทียบปรับเจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานไม่แจ้งที่พักอาศัยกรณีรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัยตาม ม.38 จำนวน 17 ราย
คดีที่ 2.บก.สส.สตม. ได้ขยายผลจากผับ ชาวจีนย่านเอกมัย ได้มีการจับกุม นายเซา เซียนโป อายุ 33 ปี นายทุนจีนรายใหญ่ ที่พบเบาะแสว่า สวมบัตรประชาชนไทย ตามหมายจับ ศาลจังหวัดปัตตานี ที่ จ.125/2565 ลง 20 เม.ย. 64 ข้อหา แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, เป็นผู้สนับสนุนในการขอมีบัตรโดยมิได้มีสัญชาติไทยฯ และมีการขยายผลนำหมายค้นศาลอาญาเข้าค้นอาคารพาณิชย์ ย่านสุทธิสาร ถนนวิภาวดีรังสิต เขตพญาไท กรุงเทพฯ ตรวจยึดของกลาง จำนวนหลายรายการ อาทิ ชุดเครื่องแบบทหารพร้อมติดป้ายชื่อของผู้ต้องหา,รถยนต์ จำนวน 2 คัน หนังสือเดินทาง จำนวน 3 เล่ม เป็นต้น
จากการสืบสวนก่อนจับกุม พบว่าผู้ต้องหามักใช้รถติดธงประจำประเทศไทยและจีน คล้ายกับรถของสถานทูต และยังมีรถนำขบวนอีก 1 คัน โดยคาดว่าเป็นทะเบียนรถปกติ ไม่ใช่รถของสถานทูตแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าเป็นการพยายามทำให้ดูเหมือนรถของสถานทูตเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถจับกุม นายศตวรรษ (นามสมมติ) อายุ 36 ปี สัญชาติไทย คนขับรถของนายเชา (นามสมมติ) พร้อมของกลาง วิทยุสื่อสารยี่ห้อ SRENDER จำนวน 1 เครื่อง ในข้อหา มีและใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ต่อมาขยายผลขอหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรีเข้าตรวจค้นบ้านนายเชา(นามสมมุติ) ในพื้นที่ อ.ลำลูกกา จว.ปทุมธานีจับกุมผู้ต้องหาชาวไทย 2ราย คือนายสามารถ (นามสมมุติ) อายุ 30 ปี สัญชาติไทย ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษี มาตรา 203 พรบ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560” และ นายอานำ (นามสมมุติ) อายุ 21 ปี บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษี มาตรา 203 พรบ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 และเป็นคนไม่มีสถานะทางทะเบียน ออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต” พร้อมของกลางรถกระบะหลังคาสูง ยี่ห้อ SUZUKI รุ่น CARRE สีขาว และสุรา บรรจุในภาชนะภายในกล่อง จำนวน 40 ขวด
จากการตรวจค้นบ้านพักนายเซา เซียนโป พบช่องทางลับ เชื่อได้อาจจะมีการนำหลักฐานสำคัญบางส่วนออกไปในช่องทางนั้น ก่อนที่ตำรวจจะเข้าตรวจค้น ส่วนโลโก้ตราสัญลักษณ์ สมาคมพ่อค้าไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ติดอยู่หน้าบ้าน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสมาคมดังกล่าวมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ความเกี่ยวข้องระหว่างผู้ต้องหา และทางสมาคมฯ นั้นในลักษณะเอกสารยังไม่ปรากฎ แต่ในทางพฤตินัยผู้ต้องหาอยู่ในลักษณะของที่ปรึกษาของสมาคมฯ จากการสืบสวนพบว่ามีผู้พบมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องหลายรายแต่อยู่ระหว่างการขยายผล ส่วนกรณีสมาคมฯดังกล่าว อาทิตย์หน้าจะมีการเรียนผู้ที่เกี่ยวเข้ามาสอบข้อเท็จจริง ส่วนที่หลายคนมองว่านายเซา เซียนโป เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาจีนรายสำคัญที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ตามหลักฐานยังไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
คดีที่ 3 บก.สส.สตม. ร่วมกับตำรวจจีนจับกุมผู้ต้องหาตามหมายอินเตอร์โพล(RED NOTICE) สัญชาติจีน จำนวน 2 ราย โดยได้รับการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐประชาชนจีนประสานผ่านสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งข้อมูลผู้ต้องหาตามหมายอินเตอร์โพล (RED NOTICE) สัญชาติจีน จำนวน 2 ราย ทางด้านบก.สส.สตม. จึงได้ทำการสืบสวนจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้ดังนี้
1.นายหลี่ (นามสมมุติ) สัญชาติจีน อายุ 27 ปี ซึ่งมีหมายจับของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีหมายอินเตอร์โพล (RED NOTICE) แล้วได้หลบหนีมาอยู่ในราชอาณาจักรไทย ในข้อหาในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่น โดยผู้ต้องหาได้ร่วมกับพวกทำแอฟพลิเคชั่นหลอกให้ร่วมลงทุน เมื่อได้เงินจำนวนหนึ่งก็ได้ทำการปิดแอฟฯ และหลบหนีเข้ามาประเทศไทย โดยมีผู้เสียหายกว่า 400,000 ราย ความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท ภายหลังได้รับแจ้งข้อมูลฝ่ายสืบสวนพบว่าได้หลบหนีไปอยู่ในพื้นที่ย่ายสุทธิสาร กรุงเทพมหานคร จึงได้เดินทางไปตรวจสอบพบ นายหลี่ (นามสมมุติ) เมื่อทำการตรวจสอบหนังสือเดินทางพบว่าเป็นบุคคลเดียวกันจริงกับหมายอินเตอร์โพล (RED NOTICE) จึงเพิกถอนการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร และนำตัวส่ง กก.3 บก.สส.สตม. ผลักดันออกนอกราชอาณาจักร
2.นายฮู (นามสมมุติ) สัญชาติจีน อายุ 40 ปี ซึ่งมีหมายจับของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีหมายอินเตอร์โพล (RED NOTICE) แล้วได้หลบหนีมาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยมีข้อหาในการกระทำผิดคือ ครอบครองสิ่งของต้องห้าม และปลอมเอกสาร จากการสืบสวนพบว่าได้หลบหนีไปอยู่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จว.สมุทรปราการ จึงได้เดินทางไปตรวจสอบจนพบ นายฮู (นามสมมุติ) เมื่อทำการตรวจสอบหนังสือเดินทางพบว่าเป็นบุคคลเดียวกันจริงกับหมายอินเตอร์โพล (RED NOTICE) จึงเพิกถอนการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร และ ผลักดันออกนอกราชอาณาจักร
คดีที่ 4 บก.สส.สตม. จับกุมนายจาง (นายสมมุติ) สัญชาติไต้หวัน ที่อาจจะเชื่อได้ว่าเป็นหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวัน ที่ทำงานในประเทศฟิลิปปินส์ โดยเจ้าหน้าที่ สตม.ได้ตรวจพบรถยนต์เฟอร์รารี่ สีแดง ทะเบียน กต488 กทม. มูลค่า24ล้านบาท จอดให้ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อเข้าตรวจสอบพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวถูกระงับใช้เมื่อ3ปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สตม. จึงได้รอเจ้าของรถมายืนยันตัวบุคคล ต่อมาพบว่านายจาง(นามสมมติ) ไม่มายืนยันว่าเป็นเจ้าของรถ พร้อมแสดงหนังสือเดินทางประเทศกัมพูชา เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อ 30 ต.ค. 65 ได้รับอนุญาตประเภท ผ.ผ.14 จึงได้นำข้อมูลตรวจสอบในระบบBiometric ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า มีใบหน้าคล้ายผู้ที่ใช้หนังสือเดินทาง2เล่ม เล่มแรกคือนายโด (นามสมมุติ) สัญชาติไต้หวัน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และเล่มที่2 คือนายฟู(นามสมมติ) ชาวใต้หวันซึ่งไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ จึงได้ประสานงานไปยังสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย และจากการสืบสวนยังทราบว่านายจาง(นามสมมุติ) เป็นหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวัน ที่ทำงานอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือ ความปลอดภัยของประชาชนฯ จึงได้ดำเนินเพิกถอนการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร และผลักดันออกนอกราชอาณาจักร หลังจากนี้จะทำงานควบคู่กับ ปปง.ในการขยายผลในส่วนของทรัพย์สิน และเส้นทางการเงินต่อไป
พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. เปิดเผย การกวาดล้างอาชญากรรมในช่วงการประชุมเอเปค ถือเป็นเรื่องที่ผบ.ตร.ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเน้นในเรื่องของการอยู่ในราชอาณาจักรเกิดกว่าที่กฎหมายกำหนด และความผิดอื่น พร้อมทั้งขยายผลจับเครือข่ายผู้กระทำความผิด สำหรับในช่วงนี้การเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และเที่ยวบินมากขึ้น ดังนั้นการตรวจสอบของ ตม.ก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่ อยู่บนพื้นฐานความมั่นคงและความปลอดภัย โดยมีการเฉลี่ยเวลาในการตรวจสอบ ต่อนักท่องเที่ยว คือ 45 วินาที แต่ถ้านักเที่ยวเที่ยวมีปัญหาก็จะมีการเชิญออกไปสอบประวัติ แต่ถ้าในช่วงที่เที่ยวบินมาพร้อมกันก็อาจจะมีการล่าช้าบ้างก็ต้องสร้างความเข้าใจ
ส่วนประเด็นอาจจะมีผู้ไม่หวังดี จะเดินทางเข้ามาก่อความไม่สงบการประชุมเอเปคหรือไม่นั้น ซึ่งเรื่องนี้ทาง สตม. ได้ทำงานมาโดยตลอด ก่อนการประชุม มีการประสานข้อมูลกับฝ่ายความมั่นคงของแต่ละประเทศถึงบุคคลที่เฝ้าระวัง ร่วมถึงประเทศคู่ขัดแย้ง มีการตรวจสอบย้อนหลังบุคคลที่เข้ามาอยู่ในประเทศ6เดือนถึง1ปี ทั้งสัญชาติ หรือชนชาติของผู้ที่เฝ้าระวัง ที่พักอาศัย ความถี่ในการเดินทางเข้า-ออก และเดินทางออกไปนอกประเทศหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังๆไม่มีรายงานของบุคคลเหล่านี้
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ tnews