ความคืบหน้ากรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 โดยจะกำหนดราคาส่วนต่างที่จะต้องจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นงวดแรก และพิจารณางวดถัดไปที่จะจ่ายทุก 7 วัน รวมจ่ายทั้งสิ้น 33 งวดจนจบโครงการ
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อพิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66
สำหรับประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด กำหนดราคาประกันรายได้และจำนวนสิทธิ ดังนี้
ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท รายละไม่เกิน 14 ตัน
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ตัน
ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ตัน
ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เตรียมการเพื่อเดินหน้ามาตรการคู่ขนานที่จะช่วยดึงราคา
ข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก โดยมี 3 มาตรการ ได้แก่
มาตรการชะลอขาย โดยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน โดยรัฐบาลช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน
มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมของสหกรณ์ โดยช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ไม่เกิน 12 เดือน
มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกและเก็บสต็อก เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน ซึ่งรัฐจะช่วยดอกเบี้ย 3%
ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท กำหนดไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้ข้าว และการช่วยไรละ 1,000 บาท ธ.ก.ส. จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 65 เป็นต้นไป จึงขอให้เกษตรกรตรวจสอบชื่อบัญชี ธ.ก.ส. ให้ตรงกับชื่อที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Tnews