เรื่องการ "จำนำทอง" เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานาน หลายคนพอเงินขัดสน ก็หาทางออกด้วยการ "เอาทองไปจำนำ" แต่วันนี้ ทนายรัชพล ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการ เอาทองไปจำนำ 10 ข้อ โดยระบุดังนี้
การเอาทองไปจำนำร้านทองกับโรงรับจำนำ บางทีมีข้อกฎหมายที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น มีสิ่งที่ผู้จำนำน่าจะระวังไว้ ลองมาดูกัน
1 การจำนำทอง ที่โรงรับจำนำ จะเป็นการจำนำ ถ้าหลุดจำนำ จะเอาไปวางขายทอดตลาด เจ้าของยังมีโอกาสไถ่คืน
2 การจำนำทองที่ร้านทอง อาจเป็นการขายฝาก ขายฝากถ้าหลุดแล้ว ทองตกเป็นของร้านทันที ให้ดูเอกสารว่าเป็นจำนำหรือขายฝาก แต่ร้านทองส่วนใหญ่เป็นขายฝาก เพราะจะได้ยึดทองได้เลยไม่ต้องไปรอขายทอดตลาด เจ้าของถ้าอยากได้คืน อาจต้องซื้อคืนในราคาที่สูง
3 จำนำที่ร้านทองหรือโรงรับจำนำ มีผลต่างกันตามข้อ 1 และข้อ 2 เลือกเอาเอง แล้วแต่ความสะดวกและความไว้ใจ
4 เวลาไปไถ่ ถ้าร้านอ้างว่าไม่ว่าง ไม่อยู่ ไม่สบาย พ่อตาย ฯลฯ ถือเป็นความผิดของร้าน หากเกิดความเสียหาย ร้านต้องรับผิดชอบ ซึ่งผู้ไถ่สามารถไปติดต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อวางเงินค่าไถ่ได้ ถือว่าได้ไถ่แล้ว ถ้าอยู่ในกำหนดก็จะไม่เกิดความเสียหาย
5 ในใบจำนำหรือใบขายฝาก ตรวจสอบดอกเบี้ยที่ตกลงกันให้ชัดเจน
6 ในใบจำนำหรือใบขายฝาก ตรวจสอบมูลค่าทองให้ชัดเจน ถ้าร้านทำทองหาย ร้านต้องรับผิดชอบตามมูลค่าทองที่ฝากไว้
7 ในใบจำนำหรือใบขายฝาก ตรวจดูกำหนดไถ่ให้ชัดเจน
8 ถ้าร้านทำทองหาย สามารถเรียกค่าเสียหายเป็นเงินสดได้ ไม่ต้องรอร้านทำทองมาทดแทน เดี๋ยวร้านจะดึงเกม กำหนดวันชดใช้ค่าเสียหายให้ชัดเจน
9 การจำนำหรือขายฝากกับเพื่อนกันเอง ควรทำสัญญาไว้ หรือเอาเอกสารมาเขียนเป็นหลักฐาน ลงรายละเอียดชัดเจน
10 ถ้าไปไถ่แล้วร้านไม่คืน รีบปรึกษาสำนักงานวางทรัพย์ หรือสถานีตำรวจ หรือผู้รู้กฎหมายโดยด่วน อย่าปล่อยให้เลยกำหนด เพราะอาจถูกยึดทองได้
ขอบคุณ ทนายรัชพล ศิริสาคร Fanpage
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ tnews