ปภ. แจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

30 พฤศจิกายน 2565

ปภ. แจ้งจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2565

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (333/2565) ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2565 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในช่วงแรกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือและภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลง 1-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง

ปภ. แจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

สำหรับในช่วงวันที่ 2-3 ธันวาคม 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งสาธารณรัฐมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง คาดว่าในช่วงวันที่ 4–5 ธันวาคม 2565 จะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 3–4 ธันวาคม 2565 โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 55/2565 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2565 ดังนี้

 

1. สถานการณ์ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

2. สถานการณ์อุณหภูมิลดลง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

3. สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง บริเวณ ภาคกลาง จ.เพชรบุรี (อ.ชะอำ หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ท่ายาง) และประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ) ภาคใต้ จ.ชุมพร (ทุกอำเภอ) สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง วิภาวดี กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก คีรีรัฐนิคม พนม เวียงสระ เคียนซา พระแสง บ้านนาสาร ชัยบุรี บ้านตาขุน เกาะสมุย เกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ พรหมคีรี พิปูน ฉวาง ลานสกา ช้างกลาง ร่อนพิบูลย์ ทุ่งสง นาบอน ขนอม สิชล นบพิตำ ชะอวด ท่าศาลา จุฬาภรณ์) พัทลุง (อ.เมืองฯ ตะโหมด ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ กงหรา ป่าพะยอม เขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน) สงขลา (อ.เมืองฯ นาหม่อม กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ รัตภูมิ สะบ้าย้อย สิงหนคร หาดใหญ่ นาทวี สะเดา) ปัตตานี (ทุกอำเภอ) ยะลา (ทุกอำเภอ) นราธิวาส (ทุกอำเภอ) ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์ ละอุ่น) พังงา (อ.เมืองฯ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง กะปง คุระบุรี ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เขาพนม เกาะลันตา ลำทับ ปลายพระยา) ตรัง (อ.เมืองฯ ปะเหลียน หาดสำราญ นาโยง สิเกา ย่านตาขาว รัษฎา วังวิเศษ ห้วยยอด) และสตูล (ทุกอำเภอ)

4. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

ปภ. แจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

 

5. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

6. เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ ดอนสัก กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง เกาะสมุย เกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่) สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา) ปัตตานี (อ.เมืองฯ หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี ไม้แก่น) และนราธิวาส (อ.เมืองฯ ตากใบ)

ปภ. แจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อพร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews