ส่องทางด่วนใหม่ย่านพระราม 2 เตรียมเปิดให้ประมูลปีหน้า ลุยตอกเสาเข็ม
โดย กรมทางหลวงเดินหน้าเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 2566 เตรียมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือถนนกาญจนาภิเษกวงแหวนด้านตะวันตก โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนรับผิดชอบงานในส่วนการออกแบบและก่อสร้าง พร้อมจัดหาเงินทุน รวมถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษา คาดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 2571
ทางด้าน นาย สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงโครงการนี้ว่า ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือคณะกรรมการ PPP สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ดำเนินการลงทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการแล้ว
โดยการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในครั้งนี้ กำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบงานในส่วนการออกแบบและก่อสร้าง พร้อมจัดหาเงินทุน รวมถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการก่อสร้าง การดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ โดยมีวงเงินค่าลงทุนงานโยธาและงานระบบกว่า 51,700 ล้านบาท และค่า O&M กว่า 12,600 ล้านบาท
ซึ่งทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 ด้านตะวันตก
โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว และโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน บนถนนพระราม 2
จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือข้ามทางรถไฟสายแม่กลอง ถนนเพชรเกษม เชื่อมต่อทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามทางรถไฟสายใต้ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี
จากนั้นเบี่ยงแนวเส้นทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผ่านสถานีตลาดบางใหญ่ สถานีคลองไผ่ บางบัวทอง และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ช่วงบางบัวทอง - บางปะอิน
โดยครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนนทบุรี รวมระยะทาง 35.85 กิโลเมตร มีขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องจราจรละ 3 เมตร ไหล่ทางด้านซ้าย กว้าง 2 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 1 เมตร ซึ่งตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 14 แห่ง ดังนี้
1. จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน
2. จุดขึ้น-ลงพระราม 2
3. จุดขึ้นเอกชัย
4. จุดขึ้นกัลปพฤกษ์
5. จุดขึ้น-ลงเพชรเกษม
6. จุดขึ้น-ลงพรานนก-พุทธมณฑล
7. จุดขึ้น-ลงบรมราชชนนี
8. จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี
9. จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับศรีรัช
10. จุดขึ้น-ลงนครอินทร์
11. จุดขึ้น-ลงบางใหญ่
12. จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางใหญ่
13. จุดขึ้น-ลงบางบัวทอง
14. จุดเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน
ทั้งนี้ กรมทางหลวงคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567-2570 และเปิดให้บริการปี 2571 โดยเบื้องต้นจะมีการวางระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) และแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) ซึ่งสามารถพัฒนาสู่ระบบให้เป็นแบบ (Multi-lane-free flow) หรือ M-Flow