เปิด 5 กลไกที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายระยะยาว จากโควิด-19

14 ธันวาคม 2565

"หมอธีระ" เผยข้อมูลถึงประเด็นโรคโควิด-19 เผยข้อมูลผ่านทางโพสต์เฟซบุ๊กวิชาการเกี่ยวกับปัญหา Long COVID ที่ทุกคนมักมีข้อสงสัยกันอย่างมาก ว่าจะสามารถกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้มากน้อยเเค่ไหน 

เปิด 5 กลไกที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายระยะยาว จาก โควิด-19 

เปิด 5 กลไกที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายระยะยาว จากโควิด-19

(14 ธ.ค.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นโรคโควิด-19 เผยข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหา Long COVID เผยแม้จะรักษาอาการโควิดช่วงแรกจนดีขึ้นแล้ว แต่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้
 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 451,422 คน ตายเพิ่ม 845 คน รวมแล้วติดไป 654,595,394 คน เสียชีวิตรวม 6,661,142 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรป และเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย และยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.73 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 70.76

อัปเดตข้อมูลล่าสุด Long COVID จาก EU

สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ออกรายงานสรุปของคณะผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวานนี้ 13 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้ทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหา Long COVID

สาระสำคัญจากรายงานฉบับนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า Long COVID เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และส่งผลต่อทั้งตัวผู้ป่วย และสังคม

หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ไป แม้จะรักษาช่วงแรกจนดีขึ้นแล้ว แต่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้ โดยผ่านกลไกต่างๆ อาทิ

1. อวัยวะหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง

2. การมีไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสคงค้างระยะยาวในร่างกาย และส่งผลให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง

3. การติดเชื้อทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง

4. การติดเชื้อไวรัสกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามเส้นเลือดหรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

5. การติดเชื้อกระตุ้นให้ไวรัสอื่นที่เคยติดเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายกำเริบขึ้นมา เช่น EBV, Herpes virus

การศึกษาจากทั่วโลก และพิสูจน์ว่าเกิดปัญหาจากกลไกต่างๆ ข้างต้น และเป็นเหตุผลที่อธิบายอาการผิดปกติต่างๆ ของผู้ป่วย Long COVID ซึ่งเกิดปัญหาในแทบทุกระบบของร่างกาย และเกิดโรคเรื้อรังตามมา

คณะผู้เชี่ยวชาญของสหภาพยุโรปนั้นได้ให้คำแนะนำประเทศต่างๆ ในเครือสหภาพยุโรปว่าจำเป็นต้องลงทุนวิจัยเพื่อหาทางรักษาภาวะ Long COVID, ระดมทรัพยากรเพื่อลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพ , ให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันโรค ลดการแพร่เชื้อติดเชื้อในประเทศ รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีน, ปรับรูปแบบบริการในระบบสุขภาพทุกระดับให้มีการประสานความร่วมมือกันเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ, และพัฒนาระบบการประเมิน ติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถมีข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนจัดการปัญหา Long COVID ได้อย่างถูกต้องทันต่อสถานการณ์

 
สำหรับไทยเรา ปัญหา Long COVID นั้นจะเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนการติดเชื้อแพร่เชื้อมีมากในการระบาดรุนแรงหลายระลอกตลอดสองปีที่ผ่านมา

หากใครประสบปัญหา ย่อมทราบด้วยตนเองว่า ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการทำงาน เรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ การฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้

เปิด 5 กลไกที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายระยะยาว จากโควิด-19

 


อ้างอิง
Independent Expert Panel on effective ways of investing in health publishes opinion on the impact of the post-COVID-19 condition (long COVID) on health systems. European Commission. 13 December 2022