กลายเป็นประเด็นร้อนในโชเชียล หลังมีผู้ใช้งาน Tiktok ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอที่มี แม่ค้าโรตีร้องไห้วิงวอนเพราะจะถูกเทศกิจไล่ที่ โดยแม่ค้ารายดังกล่าวได้ทำการขายอยู่ที่บริเวณปากซอยทางเข้า ศาลาแดง แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ทางแม่ค้าโรตี ที่มีนามว่า ปุ๋ย ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าเดิมทีลุงของตนได้ขายปอเปี๊ยะอยู่บริเวณนี้มานานกว่า 20 ปีและครอบครัวของตนเลยได้มาตั้งร้านอยู่บริเวณนี้มากกว่า 6 ปีแล้ว จากเดิมยังสามารถขายได้ปกติ ก่อนที่ทางเทศกิจจะเข้ามาประกาศว่าให้ร้านค้า ที่อยู่บริเวณนี้ทำการย้ายออกไป เนื่องจากกีดขวางทางเท้าของประชาชนในละแวกนี้ ตนไม่พอใจจึงขอลดขนาดเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้น่าอยู่ เพื่อจะได้ขายที่นี้ตลอด แต่ทางเทศกิจได้นำกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ของทางสำนักงานเขตมาปิดเพื่อไม่ให้ตนขายได้อีก
โดยก่อนหน้านี้ตนเคยคุยกับทาง ผอ.เขตบางรักแล้วว่าจะให้ตั้งขายของได้อีก 6 เดือนจึงอยากวิงวอนให้ทางผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ช่วยเหลือให้ความอนุเคราะห์ให้พวกเราลืมตาอ้าปากได้ เพราะพวกเราต้องหากินในบริเวณนี้ ไหนจะค่าเช่าบ้าน ค่าหนังสือ ค่าเล่าเรียนลูก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ใครขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยนะคะ ให้พวกเราสามารถลืมตาอ้าปากได้
ต่อมาทาง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการจัดระเบียบทางเท้าในพื้นที่ถนนสีลม โดยมีนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร และนางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก มาร่วมแถลงข่าว
นายจักกพันธุ์ ได้กล่าวว่า นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องเทศกิจ รวมถึงฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขตด้วย จากช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางเท้าของ กทม.มีผู้ค้าขายเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีผู้ทำการค้าบนทางเท้าประมาณ 700 แห่ง ผู้ค้าประมาณ 20,000 ราย หลังจากเข้ามาแล้ว สิ่งแรกที่มีการหารือพูดคุยกันคือการจัดระเบียบผู้ค้าที่อยู่บนทางเท้า โดยวัตถุประสงค์สำคัญของทางเท้า นั้นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในการสัญจร ขณะเดียวกันทางเท้าก็มีกฎหมายที่ให้ประชาชนหรือผู้ค้าที่มีความประสงค์จะทำการค้าขายต้องขออนุญาต ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตก็มีอยู่ตามกระบวนการ
โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ได้มอบหมายให้สำนักเทศกิจและสำนักงานเขต สำรวจพื้นที่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่ที่ไม่ใช่ทางเท้า เพื่อในอนาคตจะให้ผู้ค้าที่อยู่บนผิวจราจรได้เข้าไปขายในที่ที่เหมาะสม และมีความถาวร ในขณะนั้นสำรวจพื้นได้ 125 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ประมาณ 10,000 ราย หลังจากนั้นจึงนำมาพิจารณาว่าที่ตรงไหนเหมาะสมสำหรับทำการค้าขายต่อไปในอนาคต รวมถึง Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ด้วย ซึ่งมีหลายจุดที่สำนักงานเขตกำลังสำรวจ หลายจุดอยู่ในระหว่างการเจรจากับเจ้าของที่ และหลายจุดเป็นที่ของกทม.เอง
ต่อมานางสาวอัญชนา บุญสุยา ได้กล่าวว่าที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากผ่านหลายช่องทาง ทั้ง traffy fondue ทางออนไลน์และออฟไลน์ เรื่องการตั้งแผงค้ารุกล้ำทางเท้าบริเวณถนนสีลม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรทั้งทางเท้าและท้องถนน ซึ่งสำนักงานเขตบางรักได้เจรจาพูดคุยขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ค้าให้ย้ายจุดทำการค้า โดยมีการออกประกาศสำนักงานเขตห้ามตั้งวางจำหน่ายสินค้าในบริเวณที่กำหนดครั้งแรกให้มีผลในเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีประกาศในวันที่ 25 ธันวาคม 2565 แจ้งการลงพื้นที่ถนนสีลมพูดคุยกับผู้ค้าให้ย้ายแผงค้าออกจากพื้นที่ มีผลวันที่ 2 มกราคม 2566 และออกประกาศห้ามตั้งวางฯ ครั้งที่ 2 มีผลวันที่ 17 ม.ค. 66 โดยระหว่างนั้นได้มีการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และเจรจาขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการเชิญผู้ค้ามาร่วมประชุมและชี้แจงจุดผ่อนผันการค้าหลายครั้งในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือย้ายจุดการค้าไปอยู่ในถนนคอนแวนต์ ซอยศาลาแดง ตรงข้ามวัดแขก และตลาดพัฒน์พงษ์ จะมีเพียงบางรายที่ฝ่าฝืน และจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับรายที่ต่อต้าน อย่างไรก็ตามเขตยังยืนยันที่จะใช้วิธีการเจรจาและระมัดระวังการกระทบกระทั่งกับผู้ค้า
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ได้ออกมาเผยถึง การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ว่า เป็นหนึ่งในหน้าที่ของสำนักเทศกิจในด้านการจัดระเบียบเมือง โดยมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน ตามพรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ในขั้นต้นเมื่อพบการกระทำผิดต้องไปชี้แจงแนะนำให้ทำการแก้ไข หากแก้ไขแล้วถือว่าไม่มีความผิด หากยังไม่แก้ไข เจ้าพนักงานสามารถจับกุมผู้กระทำความผิด ยึดของกลางมายังสำนักงานเขต และมีการเปรียบเทียบปรับดำเนินคดี ซึ่งเป็นระเบียบขั้นตอนที่ปฏิบัติมาโดยตลอด สำหรับกรณีที่ถนนสีลม ได้มีการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ค้าบริเวณถนนสีลมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และได้ทำตามระเบียบขั้นตอนตามที่กล่าวข้างต้น
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ถนนสีลมตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ชี้แจงว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์วันที่ 20 ม.ค. ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ค้ารายนี้ ได้ความว่า ฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขตบางรัก ได้ตกลงเตรียมพื้นที่แห่งใหม่สำหรับค้าขายไว้ให้ในซอยศาลาแดง แต่ยังไม่ดำเนินการให้ ทั้งนี้สำหรับผู้ค้าในพื้นที่ถนนสีลม ได้เตรียมที่สำหรับทำการค้าไว้ให้แล้ว 3 แห่ง คือ
- ซอยศาลาแดง
- ซอยคอนแวนต์
- ถนนสีลมตรงข้ามวัดแขก
ตนจึงได้สั่งการโดยตรงไปยังหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางรัก ให้ได้พูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย แต่หลังจากนั้นหัวหน้าฝ่ายเทศกิจได้รายงานว่าผู้ค้ารายนี้ไม่ยอมเข้าไปทำการค้าในพื้นที่ที่จัดให้
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 20 ม.ค. ได้ลงพื้นที่ถนนสีลมหลังการจัดระเบียบแล้ว ซึ่งตลอดถนนทั้งสายมีผู้ค้าเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ลงขายบนทางเท้าเกินกำหนด จึงได้เข้าพบพร้อมหัวหน้าฝ่ายเทศกิจเพื่อชี้แจงว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้ย้ายออกจากจุดนี้ ซึ่งผู้ค้ารายนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามพร้อมทั้งเตรียมที่จะขายของต่อ จึงได้แจ้งว่าจำเป็นต้องยึดของกลางไปที่สำนักงานเขต เพื่อให้ผู้ค้าหยุดทำการค้าขายไปก่อนและไปพูดคุยทำความเข้าใจที่สำนักงานเขต ขณะที่กำลังพูดคุยทำความเข้าใจและยึดของกลาง มีประชาชนเริ่มเข้ามารุมล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการด่าทอเจ้าหน้าที่ ตนจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ถอยออกมาเพื่อให้ไม่เกิดการกระทบกระทั่ง
โดยระหว่างถอยออกมามีหญิงท่านหนึ่งเดินมาประกบหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ ซึ่งตนเดินตามอยู่ด้านหลัง ขณะที่กำลังเดินออกมาหญิงท่านนั้นก็ล้มลงไปเองโดยที่ไม่มีใครแตะต้องตัวเลย หลังจากล้มลงชายคนหนึ่งได้ชี้ไปที่หัวหน้าฝ่ายเทศกิจพร้อมกล่าวว่า หัวหน้าฝ่ายเทศกิจทำร้ายประชาชน ตนจึงได้บอกเจ้าหน้าที่ว่าอย่าต่อล้อต่อเถียง ให้เดินหนีออกมา และแม้ว่าจะเดินข้ามถนนมาอีกฝั่งหนึ่งแล้วคนกลุ่มนี้ยังเดินตามมาด่าทอเจ้าหน้าที่ต่อ จึงขอยืนยันว่า ตามที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ออกไปว่า รองผู้ว่าฯ ทำร้ายประชาชนนั้น ไม่เป็นความจริง
ในส่วนของนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่ปรากฏ ยังไม่พบภาพที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กทม. มีการผลักหรือทำให้หญิงท่านนั้นล้มลง และนโยบายของกทม. นั้นจะไม่มีการใช้กำลัง แต่หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถส่งให้ทางกทม.เพื่อพิสูจน์ความจริงได้ และขอยืนยันว่ากทม.ไม่ได้มีประกาศห้ามทำการค้าตามที่หลายคนกล่าว เพราะมีการจัดระเบียบและจัดพื้นที่ให้ค้าขาย ซึ่งผู้ค้าจำนวนมากให้ความร่วมมือแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่ต้องเจรจาต่อไป และขอย้ำตามที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ พูดไว้ว่า ทางเท้าไม่ใช่ของใครท่านใดท่านหนึ่ง แต่เป็นทางเดินเท้าของทุก ๆ คน การจัดระเบียบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสูดแก่ทุก ๆ คน จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ tnews