วันที่ 19 ก.พ. 2566 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด19 ลดน้อยลง และการให้วัคซีนประจำปี
ตามที่เคยได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งว่า หลังจากกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้วโควิด19 จะสงบและการติดเชื้อจะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมและเมษายน เป็นเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เพราะโควิด19 ได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลแล้ว จะไประบาดอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน
การระบาดลดลง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ประชากรไทยส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานแล้ว จากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ และฉีดวัคซีนไปแล้ว ข้อมูลการศึกษาที่ได้พบว่าเด็กและผู้ใหญ่ในวัยทำงานจะติดเชื้อไปแล้วร่วม 80% ผู้สูงอายุติดเชื้อไปแล้วประมาณ 50% แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ก็ได้รับวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 2 หรือ 3 เข็ม และมีจำนวนมากที่ได้ 4 เข็ม
2. จะเป็นช่วงที่นักเรียนส่วนใหญ่ปิดเทอมยาว จะลดการระบาดของโรคได้มาก และจะไปเริ่มระบาดใหม่ในช่วงเปิดเทอมใหม่ โดยจะระบาดหลังจากเปิดเทอมแล้ว 2-3 สัปดาห์ คือในเดือนมิถุนายน
3. ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและติดเชื้อ จากการติดตามพบว่า การลดลงของภูมิต้านทาน ช้ากว่าในผู้ที่ฉีดวัคซีนอย่างเดียว ดังนั้นในผู้ที่ติดเชื้อแล้ว เรียกได้ว่า ได้ภูมิต้านทานแบบลูกผสม ทั้งในระดับการป้องกัน และระดับเซลล์ที่ช่วยในการหายของโรค หรือลดลงของความรุนแรงได้เป็นอย่างดีมาก การติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 เกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ความรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก (จากการศึกษาของเราในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ 250 คน)
4. การติดเชื้อขณะนี้ส่วนใหญ่โรคจะไม่รุนแรง จะรุนแรงเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้น้อยกว่า 3 เข็ม และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เมื่อโรคไม่รุนแรง ทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีความลังเล ในการที่จะได้รับวัคซีนในเข็มต่อไป
5. มีการให้ข่าวทางสื่อออนไลน์มากมาย ถึงอาการข้างเคียงของวัคซีนโดยเฉพาะ mRNA ทั้งที่จริงแล้ว วัคซีนเกือบทุกตัวมีอาการไม่พึงประสงค์ อาการไม่พึงประสงค์นี้จะเกิดจากวัคซีนหรือเกิดขึ้น ต้องมีการพิสูจน์ ในรายที่พิสูจน์แล้ว จึงจะใช้คำว่าเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนได้ ในการให้วัคซีนเราจะคำนึงถึงผลได้และผลเสียหรืออาการแทรกซ้อนของวัคซีน ถ้าโรครุนแรงอย่างในระยะแรกของการระบาด โอกาสลงปอดเป็นจำนวนมาก การให้วัคซีนมีประโยชน์มาก อย่างแน่นอน ขณะนี้ความรุนแรงของโรคน้อยลง ทำให้ผู้จะรับวัคซีน คำนึงถึงอาการไม่พึงประสงค์มากขึ้น เกิดความลังเลใจในการที่จะรับวัคซีน
6. ในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วและติดเชื้อมาแล้ว มีร่างกายแข็งแรงดี การให้วัคซีนประจำปี ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหน ไม่น่าจะแตกต่างกัน ในประสิทธิภาพของวัคซีน อาจจะต้องเอาอาการข้างเคียงของวัคซีนมาใช้พิจารณาในการตัดสินใจ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews