อ.เจษฎ์ แจงชัด หม้อแปลงไฟฟ้า ยังไม่มีหลักฐานก่อมะเร็ง แต่อาจมีอันตรายอื่นๆ

20 มีนาคม 2566

อ.เจษฎ์ เด่นดวงบริพันธ์ เผยข้อมูล หลังโลกออนไลน์ออกมาเตือน มีหม้อแปลงไฟฟ้าหน้าบ้าน เสี่ยตะเกิดงเป็นมะเร็ง

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ถูกแชร์ต่อบนโลกออนไลน์ที่สร้างความวิตกกังวลให้หลายๆ คนไม่น้อย หลังจากในโลกออนไลน์มีการเผยคลิปเตือน หากมีหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่หน้าบ้าน อาจจะเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็ง

อ.เจษฎ์ แจงชัด หม้อแปลงไฟฟ้า ยังไม่มีหลักฐานก่อมะเร็ง แต่อาจมีอันตรายอื่นๆ

โดยล่าสุด "อ.เจษฎ์" หรือ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาตอบคำถามโดยระบุว่า "หม้อแปลงไฟฟ้าอยู่หน้าบ้าน ยังไม่ได้มีหลักฐานว่าก่อมะเร็ง แต่อาจมีอันตรายอื่นๆ" อีกคำถามวันนี้ มาจากคลิปติ๊กต๊อก ที่ระบุว่า "มีหม้อแปลงไฟฟ้า หน้าบ้าน จะเสี่ยงเป็นมะเร็ง อยากทราบว่าจริงหรือไม่ครับ" !?

คือ ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าคลิปดังกล่าวนั้น มาจาก "ซินแสฮวงจุ้ย" ครับ ซึ่งก็เป็นการอ้างถึงเรื่องของสนามแม่เหล็กจากหม้อแปลงไฟฟ้า มารบกวน "พลัง" ในร่างกายของเรา นำไปสู่โรคมะเร็ง .. ซึ่งวิธีอธิบายแบบนี้ แม้จะไม่ได้เป็นไปตามแนวทางการแพทย์ตะวันตก แต่ก็เป็น "กุศโลบาย" ในการให้คนเลือกซื้อบ้านให้ห่างจากหม้อแปลงไฟฟ้าได้ครับ

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าปริมาณน้อยๆ อย่างที่ออกจากหม้อแปลงไฟฟ้าจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้จริง แต่หม้อแปลงไฟฟ้าก็มีอันตรายหลายอย่าง จากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ (ดูด้านล่าง)

 

 

ตามหลักความปลอดภัย การติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าใกล้อาคารนั้น ต้องมีระยะห่างจากกึ่งกลางของหม้อแปลง ถึงช่องเปิดหรือหน้าต่างของอาคาร 6 เมตรขึ้นไป หรือถ้าน้อยกว่านั้น จะต้องมีแผงกั้นครับ (จากคลิก)
ลองอ่านข้อมูลที่ผมรวบรวมมาเป็นคำอธิบาย ดังรายละเอียดด้านล่างนี้ครับ

1. ในมุมมองของทางฮวงจุ้ยนั้น มีการอ้างว่า ต้องหลีกเลี่ยง "หม้อแปลงไฟฟ้าและเสาไฟฟ้าเเรงสูง " เพราะ หม้อแปลงไฟฟ้า มีสนามแม่เหล็กที่เข้มข้น ขณะที่เลือดในร่างกายของเรา ก็มีเหล็กจำนวนมาก ถ้าห้องนอนอยู่ใกล้กับหม้อแปลง จะส่งผลให้สนามแม่เหล็กรบกวน "พลัง" ในตัวเรา อาจทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งและโรคภูมิคุ้มกันต่างๆ ต้องจัดห้องนอนให้อยู่ห่างจากหม้อแปลงประมาณ 5 เมตร // ส่วน เสาไฟฟ้าแรงสูง นั้น ทางฮวงจุ้ยบอกว่ามีพลังคลื่นไฟฟ้าสูงกว่าหม้อแปลง หากจะเลือกซื้อบ้านที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงอยู่ในโครงการ ตัวบ้านก็ควรจะอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าอย่างน้อย 50 เมตร จึงจะปลอดภัย (จากคลิก)

2. แต่ในทางการแพทย์แล้ว ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้ามีปริมาณน้อยๆ (เช่น จากหม้อแปลงไฟฟ้าหน้าบ้าน) จะทำอันตรายหรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพขนาดนั้น

อ.เจษฎ์ แจงชัด หม้อแปลงไฟฟ้า ยังไม่มีหลักฐานก่อมะเร็ง แต่อาจมีอันตรายอื่นๆ

โดยบนเว็บไซต์ Cancer.net ของ American Society of Clinical Oncology (ASCO) ได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ในหัวข้อ "Does Living Near Power Lines Increase My Risk of Cancer? การอาศัยอยู่ใกล้กับสายไฟฟ้า จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหรือไม่ ? " เอาไว้ดังนี้

- สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic field) นั้นมีอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว ทั้งจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ ฯลฯ รวมทั้งสายไฟฟ้าและเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมาที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพของมนุษย์ เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆ ขึ้น

- สายไฟฟ้านั้นเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เนื่องจากกระแสไฟที่วิ่งอยู่ในสายไฟฟ้าอย่างคงที่นั้นสามารถทำให้เกิดการแผ่รังสีความถี่ต่ำ ที่ไม่มีประจุไอออน (low-frequency, non-ionizing radiation) ได้ ซึ่งรังสีในระดับนี้ มีอันตรายน้อยกว่าพวกรังสีความถี่สูงที่มีประจุไอออน (อย่างรังสีเอ็กซ์ ที่ทำอันตรายต่อดีเอ็นเอและเซลล์ได้) แต่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสายไฟฟ้า จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อคุณอยู่ห่างจากมัน นั่นคือ ถ้าอยู่ห่าง 300 ฟุต (ประมาณ 92 เมตร) สนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นจะเหลือเพียงแค่พอๆ กับสนามแม่เหล็กที่พบกันทั่วไปในบ้านเรือน ดังรายงานในปี 2002 ของสถาบัน the National Institute of Environmental Health Sciences และสถาบัน the National Institutes of Health (ดูคลิก)

- ในปี 1979 เริ่มเกิดความกังวลเกิดขึ้น หลังจากมีงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างสายไฟฟ้ากับการเป็นมะเร็งในเด็ก (ดูคลิก) / แต่อย่างไรก็ตาม สถาบัน the National Cancer Institute ระบุว่า งานวิจัยอื่นๆ ในยุคปี 2000 กลับไม่พบความสัมพันธ์ดังกล่าว หรือพบเฉพาะในกรณีหายาก เฉพาะบางบ้านที่มีสนามแม่เหล็กในระดับสูงมาก (ดู คลิก) // ในปี 2005 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Oxford พบความสัมพันธ์ระหว่างระยะห่างจากสายไฟฟ้ากับมะเร็งในเด็กในประเทศสหราชอาณาจักร (ดู คลิก) / แต่งานวิจัยอื่นๆ หลังจากนั้น เช่น การศึกษาสายไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2016 ตีพิมพ์ในวาสาร the British Journal of Cancer (ดู คลิก) กลับไม่พบหลักฐานถึงความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งในเด็ก กับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในระยะ 164 ฟุต (50 เมตร) ขึ้นไปจากสายไฟฟ้า และอย่างมาก ก็พบหลักฐานสนับสนุนแบบอ่อนๆ กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งในเด็ก กับครอบครัวที่อยู่ใกล้กว่า 164 ฟุต

คำสรุปของ Cancer.net เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากับความเสี่ยงทางสุขภาพ : "ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก บอกว่า มีการศึกษากันมากมาย เรื่องผลของการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในระดับต่ำ แต่ไม่มีหลักฐานว่ามันก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

และนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ถ้าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าระดับต่ำนั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพจริงๆ มันก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากปัจจัยอื่นๆ ที่เราพบอยู่ในแต่ละวัน"

3. แต่อย่างไรก็ตาม ในทางวิศวกรรมไฟฟ้าแล้ว มีข้อมูลเกี่ยวกับภัยอันตรายจากหม้อแปลงไฟฟ้าเตือนไว้อยู่เช่นกัน (จาก คลิก)

- หม้อแปลงไฟฟ้านั้น มีทั้งแบบวางบนพื้น วางบนเสา หรือวางบนนั่งร้าน โดยแบบที่พบเห็นกันได้บ่อยตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย จะเป็น "แบบแขวนที่เสา" ตามระยะห่างที่ปลอดภัย ขณะที่ส่วนที่เป็นแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของหม้อแปลงนั้น จะอยู่ในตัวถังป้องกันสนามแม่เหล็ก ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และยังไม่มีงานวิจัยยืนยันอย่างแน่ชัดว่าจะสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากหม้อแปลง หากเราอยู่ใกล้ๆ เป็นเวลานานๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือเป็นหมันได้อย่างที่หวาดกลัวกัน

- แต่อันตรายที่ควรระวังกับหม้อแปลงไฟฟ้าคือ ตัวของไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูด อันตรายถึงชีวิต

- หรือในช่วงที่ฝนตกหรือพายุเข้า แล้วอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง อาจจะทำให้เกิดประกายไฟเกิดอัคคีภัยได้ แม้ว่าในตัวหม้อแปลงไฟฟ้ามีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า แต่ก็ควรระวังไว้

- ในกรณีหม้อแปลงระเบิดนั้น มีสาเหตุมาจากความขัดข้องในระบบหล่อเย็น หรือการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งอัตราการเกิดขึ้นมีไม่มาก แต่หากเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

- อีกภัยหนึ่งจากหม้อแปลงไฟฟ้าคือ เสียงทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้า ที่ดังและน่ารำคาญอยู่ตลอดเวลา ทำให้เสียสุขภาพหู และสุขภาพจิตได้

- ความเสียหายอื่นๆที่เกิดขึ้นกับหม้อแปลงไฟฟ้า ได้แก่ การเสื่อมสภาพของฉนวน การใช้ไฟฟ้าเกินขนาด มีสัตว์เข้าไปทำรัง ขับรถชน หม้อแปลงไม่ได้มาตราฐาน การขโมยสายไฟ ฯลฯ