กรมอุตุฯ เตือน เตรียมรับมือ "พายุฤดูร้อนลูกใหม่" จ่อถล่มหนัก

22 มีนาคม 2566

เปิดพิกัด "พายุฤดูร้อนลูกใหม่" จ่อถล่ม วันที่ 26-27 มีนาคม 2566 ระวังจะมีฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่าและลูกเห็บตก

กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน เตรียมรับมือ "พายุฤดูร้อนลูกใหม่"  โดยเผยแพร่พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า เตือนระวังพายุฤดูร้อนจ่อถล่มวันที่ 26-27 มีนาคม 2566 เผยพิกัดคือบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่วนอากาศรวมๆในทั่วไปจะมีอากาศร้อน ฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เตือนประชาชนระวังเรื่องสุขภาพ

เปิดพิกัด พายุฤดูร้อนลูกใหม่ จ่อถล่มหนัก

โดยพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า คาดหมาย อากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 21 –27 มีนาคม พ.ศ. 2566 ในช่วงวันที่ 21 –25 มี.ค. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้  

เปิดพิกัด พายุฤดูร้อนลูกใหม่ จ่อถล่มหนัก

ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 27 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป 

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ตลอดช่วง

 

  • ข้อควรระวัง
    ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นไว้ด้วย ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 27 มี.ค. 66 ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย 
     
  • คาดหมายอากาศรายภาค ระหว่างวันที่ 21 – 27 มีนาคม พ.ศ. 2566

ภาคเหนือ อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 22 - 26 มี.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองเล็กน้อยบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10 – 15 กม./ชม. หลังจากนั้น มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 15 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 19 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 39 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 22 - 25 มี.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20  ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 27 มี.ค. 66 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34 – 40 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 22 - 26 มี.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ หลังจากนั้น มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. 

ภาคตะวันออก อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 21 – 25 มี.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณแนวชายฝั่งทะเล ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 27 มี.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร 

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 22 - 27 มี.ค. 66 ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 37 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 21 - 22 มี.ค. 66 ลมตะวันออก ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 27 มี.ค. 66 ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 36 องศาเซลเซียส

กรุงเทพและปริมณฑล อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในช่วงวันที่ 21 – 26 มี.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ หลังจากนั้น มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. 

ออกประกาศ 21 มีนาคม 2566 12:00 น.

 

ขอบคุณ กรมอุตุนิยมวิทยา