กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ปี 2566 ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 66 เพื่อควบคุมการทำประมงฤดูปลามีไข่
อนุญาตเฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มเรือประมงขนาดเล็กที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท – 30 ล้านบาท ขึ้นกับขนาดเรือประมง หรือ ปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ และต้องได้รับโทษทางปกครอง
ซึ่งผลการศึกษามาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ปีที่ผ่านมา พบว่าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด มีความสมบูรณ์เพศสูง โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย. พบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความหนาแน่นสูงสุดถึง 1,197 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการฯ ที่มีความหนาแน่นเพียง 470 ตัว/1,000 ลบ.ม. อีกทั้ง การใช้เครื่องมือประมงที่อนุญาตให้ใช้ในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ เช่น อวนกุ้งและอวนปู ที่มีขนาดเหมาะสมกับฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อคงความสมดุลทางธรรมชาติอีกด้วย