อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำปัสสาวะ ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จริงหรือไม่

30 มีนาคม 2566

อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำปัสสาวะ ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จริงหรือไม่!? หลังมีคนแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียล

วันที่ 30 มี.ค. 2566 อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้เคลื่อนไหวผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อสงสัยหลังมีคนแชร์ว่า ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำปัสสาวะ ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่ง อ.เจษฎ์ เผยว่า "ดื่มน้ำปัสสาวะ ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ไม่ได้นะครับ"

อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำปัสสาวะ ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จริงหรือไม่

ในเมืองไทยเรา มีกลุ่มที่อ้างความเชื่อพื้นบ้าน ศาสตร์อินเดีย ฯลฯ เรื่อง "ดื่มน้ำปัสสาวะ" ที่แม้จะกลุ่มไม่ค่อยใหญ่ แต่ก็มีผู้ติดตามผู้ทำตามเยอะอยู่เหมือนกัน ประเด็นคือ ถ้าเป็นการดื่มปัสสาวะเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (ตามความเชื่อของตนเอง) ก็คงจะไม่เป็นไรมาก แต่ถ้าดื่มเพื่อรักษาหรือป้องกันโรค อันนี้ไม่ถูกต้องครับ !

ในทางการแพทย์กระแสหลัก น้ำปัสสาวะไม่ได้จะนำมารักษาอะไรต่างๆ ได้ และอย่างกรณีที่มีการแชร์ข้อความกันว่า "น้ำปัสสาวะ ดื่มทุกวัน สามารถฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ภายใน 8 เดือน โดยไม่ต้องกินยา" อันนี้ก็ไม่ถูกต้องครับ ! ไม่มีหลักฐานข้อชี้บ่งอะไร ว่าน้ำปัสสาวะที่ดื่มเข้าไปจะมีสารที่ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้

ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เตือนความเชื่อที่ว่า “ดื่มปัสสาวะรักษาโรคได้" นั้น ว่าไม่จริง ! เพราะสารต่าง ๆ ที่ร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะ เกือบทั้งหมดนั้นเป็นสารของเสีย ที่เกิดจากการเผาผลาญของร่างกายและร่างกายไม่ต้องการใช้ ถ้ากลับไปคั่งค้างในร่างกาย จะเกิดผลเสียได้

ส่วนประกอบในปัสสาวะ มี 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

- กลุ่มสารหรือของเสียที่ร่างกายกำจัดออก (Metabolic waste) ที่เกิดจากการสันดาปของร่างกาย ได้แก่ ยูเรีย จากการเผาผลาญโปรตีนและกรดอะมิโน , กรดยูริค (Uric acid) จากการสลายสารอาหารกลุ่มพิวรีน , สารประกอบคีโตน (Ketone compounds) จากการสลายไขมัน

- ยาหรืออนุพันธ์ของยา ที่รับประทานเข้าไป

- เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่อาจปนเปื้อนออกมา

การดื่มปัสสาวะตนเองอาจส่งผลกระทบต่างๆ ได้ เช่น

- หากดื่มในขณะท้องว่าง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อเยื่อบุผนังลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารได้ เนื่องจากปัสสาวะมีความเป็นกรด (มีค่า pH ประมาณ 5 – 6.5)

- มีโอกาสได้รับสารอนุพันธ์ของตัวยา (ที่ร่างกายพยายามขจัดออกทางปัสสาวะ) กลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง เพิ่มความเสี่ยงของการสะสมยาในร่างกายมากเกินไป

- มีความเสี่ยงของเชื้อโรค ที่อาจปะปนมากับปัสสาวะ หรือ เกิดจากการจัดเก็บปัสสาวะไม่ดี หรือ เก็บไว้เป็นระยะวลานานเกินไป

ขณะที่ สารที่ประโยชน์และอาจพบได้บ้างในปัสสาวะ ก็คือฮอร์โมนบางประเภท เช่น ฮอร์โมน ยูโรไคเนส urokinase ที่มีคุณสมบัติละลายลิ่มเลือดได้ แต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยมาก

สรุปคือ การดื่มน้ำปัสสวะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี ที่สำคัญคือทำให้มีการสะสมของเสีย (ซึ่งร่างกายต้องการขจัดทิ้งไปแล้ว) กลับเข้าไปหมุนเวียนเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่แนะนำให้ปฏิบัติตาม

ส่วนเรื่อง "โรคไวรัสตับอักเสบซี" นั้น ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ได้ให้คำแนะนำเรื่องโรคไว้ว่า เป็นโรคร้ายแรง นำไปสู่การเป็นมะเร็งตับได้ แต่ถ้ารักษาเร็ว ก็หายขาดได้ (แต่ไม่ใช่ว่าจะรักษาด้วยการดื่มน้ำปัสสาวะ)

โรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคติดต่อทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์ คล้ายกับโรคไวรัสตับอักเสบบี ระยะแรกจะทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน แต่โดยมากผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการ หากปล่อยไว้โดยไม่รีบรักษา นำไปสู่ภาวะตับแข็งและมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้

กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติรับเลือดก่อน พ.ศ. 2534 (ปีที่เริ่มมีการตรวจหาเชื้อไวรัส) , ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด , ผู้สักลายด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาด , ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่รักษาด้วยการล้างไต , ผู้ป่วยเอชไอวี

การป้องกันตนเองจากการติดโรคไวรัสตับอักเสบซี คือ หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์สัก หรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น , สวมถุงมือหากต้องสัมผัสเลือด , สวมใส่ถุงยางอนามัยหากมีคู่นอนหลายคน , ตรวจร่างกายเพื่อประเมินการทำงานของตับเป็นประจำทุกปี

อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำปัสสาวะ ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จริงหรือไม่

 

ขอบคุณข้อมูล chulalongkornhospital