ประเทศไทยติด 1 ใน 15 ของเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก โดยใน “ฤดูร้อน” ของไทย หลายจังหวัดจะมีอุณหภูมิพุ่งสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ด้วยอากาศร้อนจัดแบบนี้ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคฮีทสโตรก ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว โดยในช่วงปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคฮีทสโตรกจำนวนมาก และเนื่องจากอากาศร้อนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีคาดการณ์ว่า จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
รู้จักโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) คืออะไร?
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้
ภัยจากอากาศร้อนมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมาก ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยได้แก่ คนไข้ที่มีอาการตั้งแต่การบวมเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า คนไข้ที่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนหัว
ผู้ป่วยที่มีอาการมาก ได้แก่ กลุ่มคนไข้ที่มีอาการขาดน้ำจากการสูญเสียความร้อนเยอะ และอีกกลุ่มคือกลุ่มฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด เป็นกลุ่มที่รุนแรงที่สุด
ฮีตสโตรกหรือโรคลมแดด เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ โดยอาการของกลุ่มฮีทสโตรก ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ป่วยที่อยู่กลางแดดนาน ๆ และมีอุณหภูมิกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับภาวะที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป เช่น อาจจะหมดสติหรือมีภาวะชักได้ ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นลมปกติ โดยที่ประวัติที่แตกต่างกันเลยคือ ผู้ป่วยที่เป็นลมปกติไม่ได้อยู่กลางแดด
- อุณหภูมิที่สูง
- ความชื้น ความชื้นที่สูงทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้
- ภาวะแรงลม ถ้าไม่มีลม ก็ไม่สามารถพัดความร้อนได้
- กลุ่มที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง คนที่เป็นนักวิ่งมาราธอน
- คนสูงอายุ กลุ่มเด็ก พวกนี้จะมีการสูญเสียความร้อนได้มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นปกติ
- คนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ต้องใช้ยาโรคประจำตัว เช่น โรคพาร์กินสัน โรคความดันโลหิตสูง กลุ่มนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลมแดดได้มากขึ้น
การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีทสโตรก อย่างแรกคือ ต้องดูว่าคนไข้มีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไปหรือเปล่า ถ้ามีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป ให้ไปคลำชีพจรดูว่าการหายใจเขาผิดปกติหรือเปล่า ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวที่ปกติดีอยู่ ก็สามารถนำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่มได้ และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะ ๆ และรีบลดอุณหภูมิกายโดยการใช้น้ำแข็ง หรือการใช้ cool blanket คือการใช้ผ้ายาง ใส่น้ำแข็งลงไป แล้วให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในตรงนั้น ถ้ามีพัดลม สามารถเปิดพัดลมได้
ถ้าใช้เป็นผ้าชุบน้ำ ในคนไข้ที่เป็นโรคกลุ่มฮีทสโตรก มักจะไม่ค่อยได้ผล แต่สามารถใช้ได้ โดยการเช็ดตัวให้เช็ดตัวเหมือนผู้ป่วยที่เป็นไข้ คือเช็ดสวนขึ้นมาเข้าทางหัวใจ เช็ดทางเดียว และเปิดพัดลม
การดูแลตัวเองในหน้าร้อน คืออย่าไปอยู่กลางแจ้งให้นานเกินไป ถ้ามีร่มก็สามารถใช้ร่มได้ ดื่มน้ำให้มาก ๆ ทานน้ำแข็ง ทานไอศกรีม หรือถ้าอยู่ในบ้าน พยายามเปิดประตู หน้าต่าง อย่าอยู่ในที่อับ อย่าอยู่ในห้องปิด การอยู่ในห้องปิดจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่ได้ แล้วเกิดความร้อนสะสม ทำให้เกิดฮีทสโตรกได้แม้อยู่ในบ้าน
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่าออกไปอยู่กลางแดดนานเกินไป ถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง แนะนำว่าเราต้องหาเวลาเข้ามาอยู่ในที่ร่มบ้าง ถ้าเราอยู่กลางแดดนาน ๆ ก็จะเกิดฮีทสโตรกได้
อย่าทำให้ร่างกายขาดน้ำ เตรียมน้ำ ดื่มน้ำเยอะ ๆ อาจจะต้องเยอะกว่าในฤดูอื่น
ขอบคุณ rama.mahidol