จากกรณีที่ทางด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบ กรณีผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สามารถนำไปสู่การจับกุมความผิดแข่งรถในทาง จะได้รับค่าตอบแทน รายละ 3,000 บาท โดยสามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, สายด่วน 1599 และ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.
โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดกวดขันปราบปรามเด็กแว้นแข่งรถในทาง เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากประชาชนพบเห็นการมั่วสุมแข่งรถสามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสแก่จำหน้าที่ตำรวจได้ 3 ช่องทาง คือ
1.ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน โทร.191
2.สายด่วน โทร.1599
3.เพจเฟซบุ๊คศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. (ส่งข้อมูล inbox ) พร้อมบันทึกภาพและคลิปเป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ เมื่อข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากประชาชนสามารถนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ผู้แจ้งจะได้รับค่าตอบแทน รายละ 3,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีผู้แจ้งโดยตรง ข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2566 มีประชาชนที่ให้ข้อมูลหรือเบาะแสได้รับค่าตอบแทนแล้ว จำนวน 23 ราย เป็นเงิน 69,000 บาท
ด้านพ .ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ เตือนผู้ขับขี่และคนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ให้สวมหมวกนิรภัยตามกฎหมายทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อัตราโทษสำหรับการไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับสูงสุดถึง 2,000 บาท ชักชวนให้มีการแข่งรถในทาง จำคุกสูงสุด 6 เดือน ปรับสูงสุด 20,000 บาท แข่งรถในทาง จำคุกสูงสุด 3 เดือน ปรับสูงสุด 10,000 บาท เมาแล้วขับ จำคุกสูงสุด 1 ปี ปรับสูงสุด 20,000 บาท ทำผิดซ้ำซ้อน เพิ่มโทษ
พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ กล่าวว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน เผยให้เห็นยอดผู้เสียชีวิตสะสมในปี 2566 (1 ม.ค.66-11 เม.ย.66) มีจำนวนสูงถึง 4,478 ราย เป็นเพศชาย 77% และเพศหญิง 23% โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 36-60 ปี (39%) และ 25-35 ปี (21%) โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนร้อยละ 79 เป็น “ผู้ขับขี่หรือผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์” ในภาพรวม ตามสถิติ ทุก 1 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิต 1 คน จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์
รองโฆษกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ประชาชนมีการสัญจรบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน จึงขอรณรงค์และขอความร่วมมือให้ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์สวมหมวกนิรภัย
การสวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน สามารถช่วยลดความรุนแรงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 72% ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ถึง 39% จึงมีข้อแนะนำในการเลือกหมวกนิรภัยที่ปลอดภัย ดังนี้
1. เลือกชนิดปิดเต็มหน้าหรือชนิดเต็มใบ เพื่อปกป้องศรีษะและใบหน้าให้มากที่สุด
2. เลือกที่ได้รับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม มีสัญลักษณ์ มอก.
3. เลือกขนาดของหมวกนิรภัยให้กระชับ พอดีกับขนาดของศรีษะ
4. เลือกสีสันสดใส มองเห็นชัดเจนแม้ในเวลากลางคืน
5. เปลี่ยนหมวกใบใหม่ทุก 3-5 ปี หรือเปลี่ยนทันทีเมื่อหมวกได้รับการกระแทก