ตามที่มีการโพสต์และแชร์ข้อความในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ คนละ 100 บาท ให้ทุกคนไปรายงานตัวที่เขต ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการแชร์ข้อความว่า มีการปรับเบี้ยผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นคนละ 100 บาท โดยให้ผู้มีสิทธิ์ทุกคนไปรายงานตัวที่เขตด่วนนั้น ทางกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเท่าเดิม ตามแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และในปัจจุบันจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ
– อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท
– อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 700 บาท
– อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท
– และอายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 1,000 บาท
แต่สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีรายละเอียดดังนี้ (ข้อมูลวันที่ 12 พฤษภาคม 2563)
– ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับเพิ่ม 50 บาท/คน/เดือน
– ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับเพิ่ม 100 บาท/คน/เดือน
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และหากประชาชนต้องการทราบข้อมูลข่าวสารกรมกิจการผู้สูงอายุ สามารถโทร. 02 6424336
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุตามเดิม แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่ระบุไว้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์