จากกรณีที่ก่อนหน้านี้มีพริตตี้สาวรายหนึ่ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กหลังจากที่ตนเองทำงานเสร็จแล้ว และยังได้โพสต์ถึงเรื่องที่เจอด่านตรวจ เมาเป่าจนปรอทจะแตกแต่ตำรวจก็ปล่อยผ่าน เพราะเข้าใจว่าทำงาน แถมยังบอกขอบคุณตัวเองที่เมาแค่ไหนก็ขับรถพาตัวเองไปได้ทุกที่และกลับบ้านปลอดภัย จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลายคนก็เรียกร้องให้มีการตรวจสอบด่านตำรวจดังกล่าว เพราะถือว่าละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2566 เวลา 13.30 น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น./โฆษก บช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุวิชชา จินดาคำ ผบก.จร., พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส รอง ผบก.จร., พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ รอง ผบก.จร., พ.ต.อ.จามร ทองพรรณ ผกก.กก.1 บก.จร., พ.ต.อ.ประทีป ศรีหรั่งไพโรจน์ ผกก.กก.5 บก.จร. และ นางสาว สโรชาฯ (ผู้โพสต์ facebook) ร่วมแถลงข่าวกรณี พริตตี้สาว ผู้ใช้ Facebook โพสต์ข้อความพาดพิงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการของงานตรวจพิสูจน์ผู้ขับขี่ กก.5 บก.จร. บริเวณจุดวัดแอลกอฮอล์ รามอินทราขาเข้าว่าโดนเป่าแอลกอฮอล์แต่ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแต่อย่างใด
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบภาพจากกล้องที่ติดตัวของตำรวจประจำด่าน พบเห็นรถของผู้โพสต์เข้ามาที่ด่านตรวจบนถนนรามอินทรา ได้ชะลอรถยนต์และเปิดกระจกด้านข้างคนขับ ขณะนั้นตำรวจได้พูดว่า "ขออนุญาตครับ" ก่อนจะส่องไฟฉายมาภายในรถยนต์ จากนั้นก็ขับออกไป ซึ่งขั้นตอนการตรวจคัดกรองรถยนต์มีอยู่ 3 ขั้นตอน รถคันดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนแรก โดยจะ จะสังเกตจากท่าทาง พิรุธ ของคนขับ ก่อนตรวจวัดในเบื้องต้น หากพบแอลกอฮอล์ก็จะเข้าสู่การตรวจวัดในจุดที่ 2 ถึง 3 ซึ่งในกรณีนี้ยังไม่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามที่ผู้โพสต์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ด้านนางสาวสโรชา ยอมรับว่า ได้ดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างทำงานมาเล็กน้อยและไม่ได้เมา ซึ่งที่โพสต์ไปเพราะต้องการขอบคุณเจ้าของร้าน ซึ่งเป็นปกติที่จะโพสต์หลังเสร็จงานทุกครั้ง แต่ครั้งนี้มีการโพสต์เกี่ยวกับเรื่องด่านตรวจไปด้วย เพื่อต้องการให้แฟนคลับและผู้ติดตามในเฟซบุ๊กเห็นใจว่าไปทำงานมา โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา รวมถึงตนเข้าใจไปเองว่า ไฟฉายที่ตำรวจส่องเข้ามาในรถ คือเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ จึงได้เป่าไปเต็มแรง พร้อมขอโทษทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะความคึกคะนองของตนเอง
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และวรรคท้ายซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และทิ้งท้ายว่าการกระทำใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียนั้น ขอให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะจะเกิดความเสียหายกับสังคมหรือต่อผู้ใดหรือไม่ และขอฝากกรณีนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์