จากกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์แบบเรียนหนังสือภาษาไทยพาที ระดับชั้น ป.5 บทที่ จ เรื่อง "ชีวิตมีค่า" ซึ่งมีเนื้อหา กินไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา หรือ ข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นความพอเพียง เห็นคุณค่าชีวิต จนสังคมตั้งคำถามถึงโภชนาการของเด็ก และการมองโลกอย่างโรแมนติกมากเกินไปหรือไม่
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เนื้อหาของบทอ่านตามเจตนาของผู้แต่งคือ สอนเด็กให้เรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย
การนำรูปภาพเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง "ชีวิตมีค่า" มาวิเคราะห์ เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาเพียงบางส่วนของเนื้อเรื่องทั้งหมด จึงอาจทำให้เข้าใจสาระสำคัญของเรื่องไม่ถูกต้อง การพิจารณาสาระสำคัญของเรื่องที่อ่าน จำเป็นจะต้องพิจารณาเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ จึงจะสามารถเข้าใจสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้
ส่วนการตั้งคำถามถึงประเด็นโภชนาการที่ไม่เพียงพอของเด็ก เช่น การกินไข่ต้มครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลา ผัดผักบุ้ง และ ขนมวุ้นกะทิ อาจไม่เพียงพอต่อปริมาณสารอาหารนั้น เป็นการตีความคลาดเคลื่อนที่เข้าใจว่าเรื่องแต่งในหนังสือเรียน คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงทำให้รู้สึกและคิดว่าเนื้อหาที่นำเสนอแสดงให้เห็นถึงโภชนาการของเด็กนั้นไม่ถูกต้อง
ดังนั้น ผู้อ่านต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะ ระหว่างเรื่องที่แต่งขึ้น กับเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน กรณีที่ปรากฏในสื่อโซเซียล จึงเป็นการใช้ตรรกวิบัตินำเรื่องในชีวิตประจำวันมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แต่ง ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือ และสร้างความเสียหายความน่าเชื่อถือของหนังสือเรียน ซึ่งมีลิขสิทธิ์ และนำมาใช้กับนักเรียนด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์