มานะ มานี ปิติ ชูใจ เป็นหนังสือเรียนภาษาไทย ที่เด็กยุค 90 ต้องรู้จัก วันนี้เราจะพากลับไป ย้อนเรื่องราว มานะ มานี ปิติ ชูใจ หนังสือภาษาไทยในความทรงจำ และใครเป็นผู้ประพันธ์หนังสือเรียนนี้
คนแรก อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ
อาจารย์รัชนี เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2473 เป็นผู้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อการศึกษาไทยในวิชาภาษาไทยเป็นอย่างมาก ขณะเข้ารับราชการเป็นศึกษานิเทศก์ครูภาษาไทย อาจารย์รัชนีได้รับมอบหมายจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เขียนเรื่องประกอบหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "มานะ มานี ปิติ ชูใจ" โดยนำมาใช้เป็นแบบเรียนตามหลักสูตรจวบจนถึงปี 2537
และเป็นผลงานที่ทำให้ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ได้รับการยกย่องมาจวบจนถึงทุกวันนี้ และนอกจากหนังสือเรียนภาษาไทย มานะ มานี ปิติ ชูใจ อาจารย์ยังมีผลงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง "ทางช้างเผือก" และ "เรื่องชื่นใจ" ร่วมกับสำนักพิมพ์ในเครือนิตยสาร a day รวมถึงรายการ "ภาษาไทยใครว่ายาก" เคยเชิญอาจารย์รัชนีเป็นวิทยากร โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556 อีกด้วย
กระทั่ง อาจารย์รัชนี ถึงแก่กรรม ด้วยโรคหลอดเลือดอุดตัน เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557 ด้วยวัย 84 ปี ซึ่งเมื่อครั้งยังมีชีวิต อาจารย์รัชนีแสดงความประสงค์ขอบริจาคร่างกายสำหรับการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย
อาจารย์รัชนี ผู้สร้างตำนานแบบเรียนสุดคลาสสิก "มานะ มานี ปิติ ชูใจ" ได้จากเราไปแล้วตลอดกาล เหลือไว้เพียงผลงานที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของอดีตนักเรียนประถมจำนวนมาก แน่นอนว่าสำหรับใครที่อายุเลข 3 ขึ้น และใกล้แตะเลข 3 ต้องเคยได้สัมผัสทุกคน ที่พร้อมเติบโตมากับเรื่องราวของ มานะ มานี จนเขียนอ่านได้คล่อง
คนที่สอง เตรียม ชาชุมพร
เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนฝีมือระดับแนวหน้าของเมืองไทย ผู้มีผลงานอันโดดเด่น จากลายเส้นและบรรยากาศแบบไทยๆ ในงานเขียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานภาพประกอบแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ
ประวัติคร่าวๆ ของ เตรียม ชาชุมพร
ระหว่างที่เรียนในช่วงปลาย ม.ศ. 3 เตรียม ชาชุมพร ได้รู้จักกับจุลศักดิ์ อมรเวช (หรือ จุก เบี้ยวสกุล) นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ที่เขาเรียนอยู่ จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของจุก เบี้ยวสกุล กระทั่งเมื่อจบ ม.ศ.3 แล้ว เตรียม ชาชุมพร จึงทำงานเป็นครูผู้ช่วยสอน และสอบได้วาดเขียนโท
หลังจาก เตรียม ชาชุมพร สอนหนังสืออยู่ 2 ปี เขาก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และนำผลงานไปเสนอต่อ อ.วิริยะ สิริสิงห์ ซึ่งขณะนั้นเป็น ผู้จัดทำนิตยสาร "ชัยพฤกษ์ ฉบับวิทยาศาสตร์" ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช อ.วิริยะ จึงมอบหมายให้เตรียมเขียน นิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ ศักยภาพของ เตรียม ชาชุมพร ได้เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ ทำให้ฝีมือของเขาก้าวหน้า อย่างรวดเร็วจนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการนักวาดการ์ตูนในยุคนั้น
ผลงานของ เตรียม ชาชุมพร ได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย เริ่มจากพัฒนาไปสู่นิยายภาพแนวสะท้อนสังคม ผลงานอันโดดเด่นในการสะท้อนภาพชีวิตชนบทได้อย่างน่าประทับใจนี่เอง ทำให้เตรียมได้รับเลือกให้เป็นผู้วาดภาพประกอบในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชุด มานะ มานี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม 1
นอกจากนี้ เตรียม ชาชุมพร ยังได้วาดภาพประกอบใน "เรื่องสั้นชุดชีวิตชนบท" ซึ่งเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านสำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ของกรมวิชาการ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยองค์การค้าของคุรุสภา เนื้อหาเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตอันรื่นเริงสดใสของบรรดาน้องๆ หนูๆ ในชนบทภาคใต้ จากปลายปากกาของ "มานพ แก้วสนิท" นักเขียนผู้ถนัด เรื่องราวชีวิตชนบทเป็นพิเศษ
เตรียม ชาชุมพร เสีย ชีวิตจากอุบัติหตุรถประจำทางปรับอากาศพุ่งชนเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2533 ขณะที่เขาอายุได้เพียง 38 ปี ใน ซึ่งวันนี้แม้ทั้งสองบุคคลสำคัญจะจากเราไปแต่ผลงานของท่านยังคงทำให้เราจดจำท่านไว้ในความทรงจำของคนไทยหลายๆ คน ไปตลอดเช่นกัน