บุกรวบหนุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คนพูดประโยคดัง คุณมีพัสดุตกค้างที่กรมศุลกากร

05 พฤษภาคม 2566

เจ้าหน้าที่บุกจับหนุ่มแสบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เคยไปทำงานที่ปอยเปต ร่วมแก๊งเจ้าของประโยคดัง "คุณมีพัสดุผิดกฎหมายตกค้างที่กรมศุลกากร"

ผู้สื่อข่าวรายงาน "ตำรวจไซเบอร์ รวบหนุ่มแสบแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นพนักงาน FedEx ทำหน้าที่เป็นสายที่ 1 หลอกผู้เสียหาย  คุณมีพัสดุผิดกฎหมายตกค้างที่กรมศุลกากร พบความเสียหายกว่า 42 ล้านบาท"
 

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยการหลอกลวงประชาชนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน  

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้กำชับสั่งการให้ทุกกองบังคับการในสังกัด เร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง  

 

บุกรวบหนุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คนพูดประโยคดัง คุณมีพัสดุตกค้างที่กรมศุลกากร

 

วันนี้ (5 พฤษภาคม 2566) เวลา 10.00น. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.สอท. , พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 , พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. , พ.ต.อ.พิเชียรยศ อรุณพันธกุล ผกก.1 บก.สอท.1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวกรณี เปิดปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีพฤติการณ์การกระทำผิด และผลการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ 
 

สืบเนื่องมาจากได้มีผู้เสียหายเป็นนักธุรกิจถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงว่าเป็นพนักงานบริษัทขนส่ง FedEx มีพัสดุผิดกฎหมายส่งจากต่างประเทศติดที่กรมศุลาการ ได้ระบุชื่อที่พัสดุเป็นชื่อนามสกุลผู้เสียหาย มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฐานฟอกเงิน จึงหลงเชื่อโอนเงินไปจำนวนกว่า 42 ล้านบาท ภายหลังทราบว่าถูกหลอกลวงจึงได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.สอท.1 จึงได้ทำการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเส้นทางการเงิน หาความเชื่อมโยงทางคดี กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ได้  

 

บุกรวบหนุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คนพูดประโยคดัง คุณมีพัสดุตกค้างที่กรมศุลกากร

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 14.30น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.สอท.1 ได้จับกุมตัว นายสุรเกียรติ            ขอสงวนนามสกุล อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2297/2565 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น,ร่วมกันเป็นอั้งยี่,ร่วมกันเป็นซ่องโจร,ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ,ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน" ที่ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 

 

บุกรวบหนุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คนพูดประโยคดัง คุณมีพัสดุตกค้างที่กรมศุลกากร

 

จากการสอบปากคำผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และให้การอีกว่าผู้ต้องหาได้หางานผ่านเฟซบุ๊ก พบว่ามีรับสมัครงานเป็นแอดมินเว็บพนัน จึงได้ติดต่อขอทำงานไป และได้เดินทางไปทำงานที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา เมื่อไปถึงพบว่าเป็นออฟฟิซแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยเฉพาะ มีนายทุนเป็นคนจีน ผู้ต้องหาจึงตกลงทำงานด้วย โดยทำหน้าที่หลอกลวงเป็นสายที่ 1 พนักงาน FedEx มีสคริป(บท)ให้ท่องหลอกลวงว่า 

"คุณมีพัสดุตกค้างของขนส่ง FedEx มีหมายเลขพัสดุหรือไม่ ถ้าไม่มีให้แจ้งชื่อนามสกุล เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อแจ้งชื่อนามสกุลแล้ว พนักงานจะตรวจสอบสักครู่หนึ่ง เมื่อตรวจสอบเสร็จจะแจ้งว่าพบพัสดุผิดกฎหมายถูกกรมศุลกากรอายัดไว้โดยส่งมาในชื่อนามสกุลคุณ ต่อมาจะถามผู้เสียหายว่าเป็นคนส่งหรือไม่ ถ้าตอบ ไม่ ให้ถามต่อว่าทำไมมีชื่อคุณเป็นคนส่ง ถ้าตอบ ไม่ทราบ ให้แจ้งผู้เสียหายว่ามีการแอบอ้างในการใช้ชื่อคุณมาส่งพัสดุ ให้ผู้เสียหายเดินทางมาที่สาขา FedEx สะดวกหรือไม่ ถ้าไม่สะดวกให้ติดต่อไปที่สถานีตำรวจ จะช่วยประสานงานให้" 

จากนั้นเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะกดต่อสายส่งไปที่สคริปคนต่อไป สายที่ 2-3 จนถึงขั้นตอนที่ผู้เสียหายโอนเงิน โดยทำงาน 08.00-16.00น. ได้เงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท ถ้าทำยอดได้สูงจะได้เดือนละ 30,000 บาท และมีโบนัสอีก 0.1% จากยอดเงินที่หลอกได้ ผู้ต้องหาทำมา 5 เดือนเศษ ก็กลับบ้านเพราะเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว 

ฝากไปยังประชาชนให้พึงระวังการหลอกลวงลักษณะดังกล่าว ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ควรมีสติก่อนการโอนเงินทุกครั้ง ควรหาข้อมูลให้รอบด้าน อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน "ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน" ทั้งนี้ การปฏิบัติการของ บช.สอท. ยังคงมุ่งเน้นที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม คำนึงถึงความเดือดร้อน และอำนวยความยุติธรรมของประชาชนเป็นสำคัญ