เรียกได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้รัฐสภาไทย ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 250 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 500 คน โดย ส.ว. มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ขณะที่ ส.ส. จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการออกกฎหมายต่างๆ และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา
ทั้งนี้ จะเห็นว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ทางการเมือง วันนี้เราจึงได้นำข้อมูลเงินเดือน รายได้ และผลตอบแทนต่าง ๆ ของ ส.ส.-ส.ว. รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง มาให้ดูกันว่าในแต่ละตำแหน่งนั้นมีค่าตอบแทนมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์รัฐสภาไทย
เงินเดือนและค่าตอบแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
1. ประธานสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 50,000 บาท
รวมเป็นเดือนละ 125,590 บาท
2. รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
3. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท
รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท
เงินเดือนและค่าตอบแทนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
1. ประธานวุฒิสภา
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 74,420 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท
2. รองประธานวุฒิสภา
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
3. สมาชิกวุฒิสภา
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท
รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท
ตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่สำคัญ
1. นายกรัฐมนตรี
- อัตราเงินเดือน 75,590 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท
รวมเป็นเดือนละ 125,590 บาท
2. รองนายกรัฐมนตรี
- อัตราเงินเดือน 74,420 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 45,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวง / รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
- อัตราเงินเดือน 73,240 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
4. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
- อัตราเงินเดือน 72,060 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 41,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท
5. ที่ปรึกษา รมว. และ รมช.
- อัตราเงินเดือน 47,250 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 10,000 บาท
รวมเป็นเดือนละ 57,250 บาท
6. เลขานุการ รมว.
- อัตราเงินเดือน 44,310 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 4,900 บาท
รวมเป็นเดือนละ 49,210 บาท
7. ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.
- อัตราเงินเดือน 39,710 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 4,400 บาท
รวมเป็นเดือนละ 44,110 บาท
อย่างไรก็ตาม ข้าราชการการเมืองที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วย ถ้าได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือเงินเพิ่มสำหรับสมาชิกสภาดังกล่าวแล้ว จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะข้าราชการการเมืองอีก
นอกจากเงินประจำที่ได้รับทุกเดือนแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมืองต่าง ๆ ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายการเดินทาง สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล รวมถึงเบี้ยประชุม โดยถ้าเป็นประธานประชุมกรรมาธิการ ได้ครั้งละ 1,500 บาท หากร่วมประชุมกรรมาธิการ ได้ครั้งละ 1,200 บาท ส่วนประชุมอนุกรรมาธิการ ได้ครั้งละ 800 บาท
ขอบคุณ รัฐสภาไทย