นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ดขนาดกลาง (หนักประมาณ 80 กรัม) ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าว-แป้ง 1 ทัพพี และของหวานในมื้อที่กินทุเรียน
แต่ถ้าใครชอบกินทุเรียนมาก หากกิน ครั้งละประมาณ 2-3 พู หรือ 4-6 เม็ด ร่างกายจะรับพลังงานสูงถึง 520 – 780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินอาหารมื้อหลัก 2 มื้อ ทุเรียนแต่ละพันธุ์เมื่อเปรียบเทียบต่อปริมาณเนื้อทุเรียนหนัก 100 กรัมหรือ 1 ขีด จะให้พลังงานต่างกัน เช่น ทุเรียนก้านยาวให้พลังงาน 181 กิโลแคลอรี ทุเรียนรวง ให้พลังงาน 157 กิโลแคลอรี ทุเรียนหมอนทอง ให้พลังงาน 156 กิโลแคลอรี ทุเรียนชะนี ให้พลังงาน 139 กิโลแคลอรี ทุเรียนกระดุมให้พลังงาน 129 กิโลแคลอรี หรือหากเป็นทุเรียนกวนจะให้พลังงานมากขึ้นไปอีก คือ 340 กิโลแคลอรี นอกจากนี้ จึงควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน
“สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อยเกินไป เพราะการกินทุเรียนปริมาณมากหรือกินทุเรียนบ่อยเกินไป จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ นอกจากนี้ ประชาชนไม่ควรกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากทุเรียนเป็นอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงานสูงเช่นเดียวกัน
เมื่อกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะได้รับพลังงานที่มากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดกระบวนการ เผาผลาญเพื่อกำจัดของเสียเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ กรดกำมะถันในทุเรียนจะทำให้เอนไซม์ที่กำจัดสารพิษจากกระบวนการเผาผลาญลดลง หากมีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียนและอาเจียน หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันอาจเสียชีวิตได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว