อุทาหรณ์ ชายปวดท้องน้อยมาหลายเดือน สุดท้ายเอกซเรย์เจอนิ่วก้อนยักษ์

24 พฤษภาคม 2566

อุทาหรณ์ ชายวัย 74 ปี ปวดท้องน้อยมาหลายเดือน ปัสสาวะบ่อยกระปริบประปรอย สุดท้ายเอกซเรย์เจอนิ่วก้อนยักษ์ หนักกว่า 700 กรัม

วันที่ 24 พ.ค. 66 เฟซบุ๊กเพจ โรงพยาบาลนครพิงค์ ออกมาเตือนอุทาหรณ์ชายปวดท้องน้อยมาหลายเดือน เอกซเรย์เจอนิ่วก้อนยักษ์ หนักกว่า 700 กรัม ระบุว่า... ปวดท้องน้อยมาหลายเดือน ตรวจพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขนาดยักษ์ หนักกว่า 700 กรัม

อุทาหรณ์ ปวดท้องน้อยมาหลายเดือน สุดท้ายเอกซเรย์เจอนิ่วก้อนยักษ์

ผู้ป่วยชายอายุ 74 ปี มารับการตรวจที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ด้วยอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ เป็นๆหายๆ ปัสสาวะบ่อยกระปริบประปรอย มาหลายเดือน ตรวจเอกซเรย์พบว่ามีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขนาดใหญ่มาก วัดได้ 10.2 × 8.6 ซม. นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีนิ่วในไตซ้ายขนาดใหญ่อีกด้วย

 

ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลนครพิงค์ จึงได้ทำการผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะออก พบว่านิ่วมีน้ำหนักถึง 707.6 กรัม การผ่าตัดลุล่วงไปด้วยดี

นพ.ประพนธ์ เปี่ยมอนันต์ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขนาดยักษ์อย่างเช่นในกรณีนี้พบได้ไม่บ่อย เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยจึงมักจะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม นิ่วที่มีขนาดใหญ่มากๆเช่นนี้ก็ยังคงพบได้บ้าง (ดังเช่นกรณีที่ทางเพจได้เคยนำเสนอไป)

 

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบได้บ่อย ในแต่ละปี คนไทยป่วยเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากกว่า 50,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ราว 5% มักจะพบร่วมกับภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะพิการจากโรคทางระบบประสาท เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะกระปริบประปรอย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด และมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ หากมีอาการดังนี้ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ

อุทาหรณ์ ปวดท้องน้อยมาหลายเดือน สุดท้ายเอกซเรย์เจอนิ่วก้อนยักษ์

สำหรับวิธีการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นนิ่ว ได้แก่

 

1. ดื่มน้ำมากๆ : ดื่มจนกว่าจะมีปัสสาวะ 2 ลิตร/วัน ยกเว้นกรณีป่วยเป็นโรคที่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำมากๆ

 

2. ลดการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่ว เช่น

     - กรดยูริก พบมากใน เนื้อสัตว์,เครื่องใน,ยอดผัก,กะปิ,แอลกอฮอล์

     - ออกซาเลต พบมากใน ใบชา,ผักโขม,ผักปวยเล้ง,ช็อคโกแลต และไม่ควรทานวิตามินซีเสริมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/วัน

 

3. บริโภคอาหารที่มีสารยับยั้งนิ่วมากขึ้น เช่น

     - ซิเตรท พบในผลไม้หลายชนิด เช่น ส้ม,มะนาว

     - อาหารที่มีกากใย ช่วยยับยั้งการดูดซึมสารก่อนิ่ว

 

4. บริโภคแคลเซียมแต่พอดี กับความต้องการในแต่ละวัน

 

5. ลดเค็ม, ลดคาร์โบไฮเดรต, ลดน้ำหนัก