กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนเครียดสูงขึ้นหลังเลือกตั้ง
กรมสุขภาพจิต เผย ห่วงคนไทยมีความเครียดสะสมสูงขึ้น หลังจากเลือกตั้งที่ผ่านมา เนื่องจากสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ-ปัญหาในครอบครัว-ยาเสพติด หวั่นก่อให้เกิดความรุนแรง พร้อมขอความร่วมมือ สังเกตพฤติกรรมการพูดคุยคนใกล้ชิด มีสัญญาณการเกิดอารมณ์ความรุนแรงและอาจมีผลต่อมุมมองทางการเมืองที่แตกต่าง แนะไม่ล้อเลียน ไม่ซ้ำเติมความผิดหวัง
ล่าสุด 2 มิถุนายน 2566 นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ มีข่าวการทำร้ายร่างกาย ด้วยอาวุธ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า สังคมไทยมีความเครียดมากขึ้น กรมสุขภาพจิต ได้ติดตามสถานการณ์ภาวะความเครียดของประชาชนหลังเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนมีความเครียดเริ่มสูงขึ้น เมื่อความเครียดเพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบโดยรวมต่อหลายคน ที่มีแนวโน้มไปกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด คือ ภาวะการเงิน เศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะหลายเคสที่มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามปัญหายาเสพติดและจะต้องถูกแก้ไข ปัญหาความรุนแรงถึงจะลดลง
นพ.วรตม์ ระบุอีกว่า การก่อความรุนแรงหลายครั้งจะเห็นสัญญาณความรุนแรงก่อน เช่น พฤติกรรม การพูดที่เปลี่ยนแปลงไป การถืออาวุธเล่นไปมา โดยคนที่เห็นสัญญาณได้เร็วที่สุดคือคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด หลังจากที่เห็นสัญญาณความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก จะต้องมีคนเข้าไปช่วยเหลือ รับฟังปัญหาเพื่อให้เกิดความเชื่อใจ จะได้นำไปสู่ขั้นตอนการรักษา หรือ เป็นการช่วยเหลือในระดับชุมชน
หากไม่มีใครสังเกตหรือเข้าไปช่วยเหลือ ความรุนแรงอาจจะเพิ่มขึ้นได้ จากความรุนแรงทางวาจา กลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพ พัฒนาความรุนแรงที่ใช้อาวุธ เพราะฉะนั้นทุกความรุนแรงจะต้องมีสัญญาณก่อนเสมอ
ข้อสังเกตพฤติกรรมการพูดคุยกับคนอื่นว่า มีความรุนแรงหรือไม่ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1.ไม่รู้จัก สังเกตพฤติการพูดคุย น้ำเสียง ลักษณะท่าทาง หรืออาจจะเห็นความรุนแรงขึ้นสุดคือ แกว่งอาวุธไปมา
2.คนที่รู้จัก จะสังเกตง่ายกว่าคนที่ไม่รู้จัก คือ สังเกตพฤติกรรม ทางกาย วาจา การพูด ว่าเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่
สำหรับการช่วยเหลือ ตอนที่บุคคลกำลังมีอารมณ์ความรุนแรงมาก จะช่วยเหลือยาก จะต้องให้คนที่มีอำนาจทางกฎหมาย หรือคนที่มีประสบการณ์การเข้าไปช่วยเหลือ เพราะเสี่ยงจะเกิดอันตรายได้ ส่วนสถานการณ์ที่อารมณ์บุคคลยังไม่รุนแรงมาก คนใกล้ชิดต้องรีบเข้าไปหาเพื่อพูดคุย รับฟังปัญหา โดยอาจจะถามว่า "เราสังเกตเห็นว่าคุณหงุดหงิดอารมณ์ไม่เหมือนเดิม มีอะไรที่เราพอช่วยเหลือได้ไหม อยากระบายให้เราฟังได้ไหม"
ส่วนใหญ่ความโกรธ จะหายไปประมาณร้อยละ 80 จากการระบายให้ใครฟัง แต่สถานการณ์ปัจจุบันหลายครั้ง ส่วนใหญ่ไม่มีใครรับฟัง ไม่มีใครให้เวลา ทำให้ความเศร้า ความโกรธ ความหงุดหงิดถูกเก็บไว้ กลายเป็นความรุนแรง แม้การฟังจะแก้ปัญหาไม่ได้ สิ่งที่เกิดคือความเชื่อใจ เพราะหากมีความเชื่อใจเกิดขึ้นก็สามารถชักชวนให้เข้ารับรักษาได้