เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าจะมีร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมและมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้จะยังมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7 – 11 มิถุนายน 2566
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้
1. ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว แม่แจ่ม แม่วาง กัลยาณิวัฒนา จอมทอง สะเมิง อมก๋อย และฮอด) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวม ปางมะผ้า ปาย และสบเมย) จังหวัดลำพูน (อำเภอทุ่งหัวช้าง แม่ทา บ้านโฮ่ง และป่าซาง) จังหวัดตาก (อำเภอแม่ระมาด แม่สอด พบพระ ท่าสองยาง และอุ้มผาง) จังหวัดแพร่ (อำเภอเด่นชัย) จังหวัดพิจิตร (อำเภอบางมูลนาก) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอฟากท่า) จังหวัดนครสวรรค์ (อำเภอบรรพตพิสัย) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอวิเชียรบุรี) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอหนองขาหย่าง)
2. ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอบ้านโพธิ์) จังหวัดสระแก้ว (อำเภอวัฒนานคร) จังหวัดชลบุรี (อำเภอพานทอง) จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง บ้านค่าย และแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ และขลุง) จังหวัดตราด (อำเภอเกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง เมืองตราด แหลมงอบ และคลองใหญ่)
3. ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต) จังหวัดกระบี่ (อำเภอคลองท่อม เกาะลันตา เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน) จังหวัดสตูล (อำเภอละงู) จังหวัดยะลา (อำเภอรามัน)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที