ช่วงต้นฤดูฝน จะเป็นช่วงที่พรรณไม้สกุลตะแบก (Lagerstroemia) ที่พบในประเทศไทย หลายชนิดออกดอก เช่น ตะแบกดง ตะแบกดาน เสลาขาว เสลาเปลือกหนา สมอร่อง ชนิดที่มีช่อดอกยาว สีสันโดดเด่น มองเห็นได้ในระยะไกล ๆ คือ สมอร่อง บริเวณที่พบสมอร่องได้ง่าย เช่น เขาสมอคอน จังหวัดลพบุรี หลังวัดพระพุทธบาทฯ จังหวัดสระบุรี สองข้างทางระหว่างตัวเมืองกาญจนบุรีไปอำเภอไทรโยคและอำเภอศรีสวัสดิ์ เขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง จังหวัดนครสวรรค์
สมอร่อง เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกสีน้ำตาลถึงสีดำ แตกเป็นร่อง ออกดอกตามปลายกิ่ง ช่อดอกรูปกรวยโค้ง ยาวได้ถึง 30 ซม. ฐานของกลีบเลี้ยงมี 6 สัน ตรงหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบดอกสีชมพูหรือสีม่วง ดอกเมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. ผลรูปทรงรี ยาว 1.2-1.8 ซม. ฐานผลมี 6 สันตื้น ๆ
สมอร่อง เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งบนเขาหินปูน ที่ระดับความสูงถึงประมาณ 200 ม.
ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช