เรียกได้ว่าเป็นประเด็นดราม่าที่หลายคนสนใจ จากกรณีที่ หยก เยาวชนหญิงวัย 15 ปี นักเรียนชั้นม.4 นักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งตกเป็นจำเลยในคดี ม.112 ต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ โดยการแต่งตัวชุดไปรเวทและย้อมสีผมไปโรงเรียนเรียน จนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในโลกออนไลน์ มีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งต่อมาทางโรงเรียนได้ออกแถลงชี้แจงประเด็นดังกล่าวถึง 2 ฉบับ ระบุว่า น้องหยก ไม่มีสภาพการเป็นนักเรียน เนื่องจากการมอบตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า "เวลาไปขอทุนเรียนต่อเมืองนอก ตอนสอบสัมภาษณ์นี่หลายมหาวิทยาลัยเจ๋งๆ ดีๆ นอกจากเขาจะดูความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม เขาจะถามด้วยว่าเคยทำอะไรมาบ้าง
เด็กที่เคยทำงานอาสาและงานการเมือง ผิดถูกชอบไม่ชอบเรื่องไหนๆ ไม่ใช่ประเด็น เขาไม่สนใจ เขาไม่ตัดสินหรอก แต่เด็กที่มีเจตจำนงเข้มแข็งตั้งแต่อายุน้อยๆ มุ่งมั่นต่อสู้เพื่อโลกที่ดีกว่า ต่อต้านโลกใบเก่า ประท้วงรณรงค์โน่นนี่มาจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ หลายมหาวิทยาลัยถึงกับกันที่มีโควตาให้กับเด็กนักกิจกรรม "เด็กอย่างหยกนี่แหละที่โลกนี้มองหา นี่คือเด็กที่คนฉลาดๆ หวังจะฝากโลกเอาไว้ในมือ""
สำหรับ วีรพร นิติประภา เป็นนักเขียนที่สร้างปรากฏการณ์ในแวดวงวรรณกรรมไทย ผู้คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (Southeast Asian Writers Award) หรือรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) จากงานเขียนเรื่อง "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" นวนิยายเล่มแรกของเธอที่คว้ารางวัลซีไรต์ในปี 2558
ก่อนจะได้รับรางวัลอีกครั้งในปี 2561 จากเรื่อง "พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ" จนสร้างประวัติศาสตรเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่ 3 ของไทย