เรียกได้ว่าได้ยินแค่ว่าปลดพนักงาน ลูกจ้างอย่างเราๆก็ร้อนๆหนาวๆไปตามๆกัน ล่าสุดมีรายงานจาก สำนักข่าวบลูมเบิร์กที่อ้างอิงแหล่งข่าววงในเมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) ระบุว่า แกร็บ โฮลดิงส์ (Grab Holdings) บริษัทยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ กำลังเตรียมจะ ปลดพนักงาน ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด หลังจากที่บริษัทต้องเผชิญกับ การแข่งขันที่รุนแรง ในอุตสาหกรรมบริการเรียกรถและจัดส่งอาหารทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยระบุว่า แกร็บเตรียมประกาศปลดพนักงานอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นการปลดครั้งใหญ่กว่าเมื่อปีค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) ซึ่งครั้งนั้น แกร็บเลิกจ้างพนักงานราว 360 คน หรือ 5% ของพนักงานทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19
ด้าน นายแอนโทนี ตัน ซีอีโอของบริษัท ยืนยันเมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) ว่าแผนการปลดพนักงานครั้งนี้ กระทบราว 1,000 ตำแหน่งหรือ 11% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด บริษัทอ้างถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการต้นทุนและเป็นการรับประกันว่าบริษัทจะมีบริการที่เหมาะสมกว่าในระยะยาว
ขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าในจดหมายที่ส่งถึงพนักงาน นายตัน ซีอีโอของแกร็บ กล่าวว่า การปรับลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้ ไม่ใช่ "ทางลัด" สู่การทำกำไร แต่เป็นการ "ปรับโครงสร้างเชิงกลยุทธ์" เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ "การเปลี่ยนแปลงไม่เคยเร็วขนาดนี้มาก่อน เทคโนโลยีอย่างเช่น Generative AI (ปัญญาประดิษฐ์) กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวการแข่งขัน"
อีกทั้ง ซีอีโอของบริษัทยังกล่าวด้วยว่า ในฐานะองค์กรธุรกิจ แกร็บต้องผนวกขนาดขององค์กร เข้ากับการดำเนินการที่ฉับไว และความเป็นผู้นำด้านต้นทุน เพื่อให้บริษัทสามารถนำเสนอบริการที่ราคาย่อมเยามากขึ้นได้อย่างยั่งยืน และทำให้บริษัทเข้าถึงมวลชนได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ ซีอีโอแกร็บ กล่าวว่า ในส่วนของเงินชดเชยพนักงานที่ถูกปลดครั้งนี้ พวกเขาจะได้รับเงินชดเชยครึ่งเดือนสำหรับอายุงานทุก ๆ 6 เดือน หรือตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายในท้องถิ่น แล้วแต่ว่าหลักเกณฑ์ใดจะให้เงินชดเชยสูงกว่า
นอกจากนี้ บริษัทจะให้การสนับสนุนการเปลี่ยนอาชีพและการพัฒนาตัวเองของพนักงานที่ถูกให้ออก ในรูปแบบของการเข้าถึงการสมัครสมาชิก LinkedIn Premium และการใช้ LinkedIn ฟรี 1 ปี รวมถึงการเข้าถึงคลาสการเรียนรู้กับโค้ชมืออาชีพ
นายตันกล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักของการปลดพนักงานครั้งนี้ คือการจัดระเบียบบริษัทใหม่อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อให้แกร็บสามารถเคลื่อนที่เร็วขึ้น ทำงานอย่างชาญฉลาดขึ้น และปรับสมดุลทรัพยากรที่มีอยู่ “การปรับโครงสร้างจึงกลายเป็นขั้นตอนที่เจ็บปวดแต่จำเป็น เพื่อทำให้แกร็บอยู่บนวิถีที่ถูกต้องเพื่ออนาคตในระยะยาวของเรา”
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แกร็บ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปเรียกรถโดยสารและส่งอาหารอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดการณ์ว่ารายได้ปีนี้ (2023) จะเพิ่มขึ้น และช่วยให้บริษัทมีผลกำไรเป็นครั้งแรก ขณะที่เดือนกันยายนปีที่แล้ว (2022) บริษัทระบุว่า ไม่มีแผนจะปลดพนักงานจำนวนมากอีก แม้ว่าตลาดจะซบเซาก็ตาม ซึ่งต่อมาในเดือนธันวาคม 2022 ซีอีโอของแกร็บแจ้งพนักงานว่า บริษัทจะหยุดรับคนเพิ่มในตำแหน่งส่วนใหญ่ และจะระงับการขึ้นเงินเดือนสำหรับผู้จัดการอาวุโส พร้อมๆกับการปรับลดงบค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะแกร็บซึ่งมีสำนักใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ แม้จะเป็นผู้นำอยู่ในตลาดเรียกรถรับจ้างและจัดส่งสินค้าอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถทำกำไร เนื่องจากต้องใช้จ่ายไปกับการสร้างความเติบโตท่ามกลางการแข่งขันจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น เช่น GoTo Group ของอินโดนีเซีย
ซึ่งจากรายงานประจำปีล่าสุดของแกร็บ โฮลดิงส์ ระบุว่า ณ สิ้นปีที่ผ่านมา (2022) แกร็บมีพนักงานอยู่ทั้งหมด 11,934 คน ปัจจุบันประกอบธุรกิจใน 8 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย
การปรับลดพนักงานครั้งใหญ่ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า แกร็บกำลังยอมจำนนต่อแรงกดดันของนักลงทุนในการลดต้นทุนให้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมา แกร็บลดค่าใช้จ่ายได้ช้ากว่าคู่แข่งรายอื่นในภูมิภาค เช่น GoTo และ Sea ของสิงคโปร์ ที่เลิกจ้างงานไปหลายพันคนในปี 2022
และแกร็บยังเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัว เนื่องจากลูกค้าต้องต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่บริษัทรายงานผลขาดทุนรายไตรมาสที่แคบลงเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่มูลค่ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเพียง 3% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. ถึง มี.ค.) อีกสาเหตุ คือการเติบโตของผู้ใช้บริการที่ยังชะลอตัวเนื่องจากคู่แข่งชักจูงลูกค้าไปได้ด้วยโปรโมชันและการลดราคา
อย่างไรก็ตาม ดังนั้น ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แกร็บจึงรายงานผลขาดทุนประจำไตรมาส ที่ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว ๆ 8,700 ล้านบาท) สิ่งที่พอจะเป็นข่าวดีคือรายรับในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังสามารถเพิ่มขึ้น 130.3% จากปีที่แล้ว เป็น 525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,300 ล้านบาท)