จากกรณีที่เมื่อวานนี้ 29 มิ.ย. 66 ช่วงเวลา 08.30 น. เกิดเหตุระทึกกับผู้โดยสารบนทางเลื่อนในสนามบินดอนเมือง ทำให้ขาซ้ายขาด ต่อมาได้ส่งตัวไปที่ รพ.ภูมิพล ทางด้านสนามบินได้ดูแลพร้อมตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนมาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผอ.การท่าอากาศยานดอนเมือง เร่งหาสาเหตุทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสารหญิง ยืนยันดูแลเต็มที่ ส่วนสาเหตุยังไม่ชัดว่าเกิดจากซี่หวีของทางเลื่อนหรือไม่ พบมีอายุใช้งานเกือบ 30 ปี ก่อนเกิดเหตุตรวจสอบแล้วซี่หวีอยู่ครบ เตรียมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เชิญหน่วยงานนอกร่วมตรวจสอบ
ช่วงเวลา 15.00 น. นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง และนายชยาศิส บำรุงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายไฟฟ้าและเครื่องกล ร่วมกันตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงกรณีผู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุบนปลายทางเลื่อน ขณะกำลังจะเดินทางไปยัง จ.นครศรีธรรมราชเพียงลำพัง
โดยผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลา 08.27 น. เกิดเหตุนางสุพรนี กิตติรัตนา อายุ 57 ปี ประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่ปลายทางเลื่อน ระหว่าง South Corridor ระหว่าง Pier 4 - Pier 5 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ทำให้ขาซ้ายตั้งแต่ใต้เข่าลงไป ติดอยู่ในทางเลื่อนถึงขั้นขาขาด
เบื้องต้นได้รีบนำตัวผู้โดยสารส่งโรงพยาบาลภูมิพลทันที แต่ทางผู้โดยสารมีความประสงค์ จะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เบื้องต้นทางทีมแพทย์ชุดแรกของโรงพยาบาลภูมิพลแจ้งว่า "ขาไม่สามารถต่อได้" และผู้ป่วยเสียเลือดมากจึงให้เลือดก่อน แต่ทางแพทย์ชุดที่สองของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยืนยันว่า จะพยายามรักษาอย่างเต็มที่ เบื้องต้นจากการดูแลสภาพจิตใจของผู้โดยสาร พบว่า ผู้โดยสารค่อนข้างเข้มแข็ง
ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้น อยู่ระหว่างสืบสวนหาข้อเท็จจริง และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความชัดเจนให้มากที่สุด โดยจะใช้ทีมงานชุดนอกร่วมตรวจสอบด้วย คือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยร่วมตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและปลอดภัยว่าอุปกรณ์ตัวนี้เกิดความผิดพลาดจากอะไร
เบื้องต้นอุปกรณ์ทางเลื่อนมีการตรวจเช็คทั้งรายวัน / รายเดือน / ราย 3 เดือน และรายปี โดยบริษัทต้นทางที่ทำการติดตั้ง คือ "ฮิตาชิเจแปน" ซึ่งมีบริษัท "สยามฮิตาชิ" เป็นผู้ตรวจเช็คซ่อมบำรุง เป็นการบริการหลังการขายของประเทศญี่ปุ่นโดยตรง จึงมีความเชี่ยวชาญและตรวจเช็คอย่างรอบด้าน โดยยืนยันว่า ทางเลื่อนสามารถใช้งานได้หากมีการตรวจเช็คบำรุงตามรอบ และเปลี่ยนอะไหล่ ซึ่งหลังเกิดเหตุทางฮิตาชิเจแปน ได้เข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว
สำหรับทางเลื่อนถูกติดตั้งใช้งานมาตั้งแต่ 2539 หรือ ประมาณ 27 ปีแล้ว ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ รวมถึงหวี ไม่มีการชำรุดเลยก่อนเกิดเหตุ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการสืบสวนให้ละเอียดก่อน เบื้องต้นครั้งล่าสุด คือ วันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งตามปกติแล้วถ้ารองหวีหักติดกันสองซี่ จะมีการเปลี่ยนทันที แต่จากภาพที่ปรากฎในสื่อที่เห็นว่ามีร่องหวีหักหลายซี่ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด
ขณะที่ภาพวงจรปิดที่เกิดเหตุ ได้ตรวจสอบแล้ว แต่เบื้องต้นเป็นภาพระยะไกล ซึ่งต้องขอดูรายละเอียด และสืบสวนก่อนว่าเกิดจากอะไรกันแน่ / จึงยังไม่ สามารถตอบได้ว่า มีการสะดุดของผู้โดยสาร หรือการสะดุดของตัวสายพานทางเลื่อน แต่จากตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พบล้อของกระเป๋าของผู้โดยสารติดอยู่ใต้ทางเลื่อนถึง 2 ล้อ และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
สำหรับทางเลื่อน มีทั้งหมด 20 ตัว เป็นของใหม่ 6 ตัว และเป็นของเก่า 14 ตัว ขณะนี้ได้ยุติการใช้งานชั่วคราวแล้ว ซึ่งทางเลื่อนนี้ไม่ได้มีเซ็นเซอร์รุ่นใหม่เหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเทคนิคในเรื่องอุปกรณ์เซฟตี้ จะเป็นการเช็คความตึงของโซ่ ถ้ามีอะไรไปขืน ตัวเซฟตี้จะตัดการทำงานทันที ต่างกับแบบใหม่ที่ตัวเซนเซอร์ใต้หวี หากมีอะไรมากระทบ เซนเซอร์ก็จะตัดทันที แต่ขณะเกิดเหตุเซ็นเซอร์ตัวนี้ ทำงาน แต่ทำงานช้า จึงต้องกลับไปตรวจสอบก่อนว่าเพราะอะไร
เมื่อถามถึงประเด็นทั้งเลื่อนจุดนี้คล้ายกับที่เกิดเหตุเมื่อปี 2562 หรือไม่ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ระบุว่า เหตุการณ์นั้นเป็นบันไดเลื่อน ไม่ใช่ทางเลื่อน
อย่างไรก็ตามเดิมทีทางท่าอากาศยานดอนเมือง มีแผนที่จะเปลี่ยนทางเลื่อนในปีงบประมาณ 2568 แต่เมื่อเหตุเกิดแบบนี้ จะต้องของบฉุกเฉิน เป็นงบประมาณเร่งด่วนในปี 2567 เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ส่วนหลังจากเกิดเหตุได้มีการพูดคุยและสอบถามกับตัวผู้โดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะผู้โดยสารยังอยู่ในสภาวะที่ยังไม่พร้อมให้ข้อมูล แต่ทางท่าอากาศยานดอนเมืองได้พูดคุยกับญาติและจัดผู้ประสานงานใกล้ชิดตลอดเวลา รวมถึงดูแลค่ารักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด
ในส่วนของมาตรการในการดูแลและเยียวยาผู้โดยสารหลังจากนี้ จะขอพิจารณาก่อนว่าจะชดเชยได้เท่าไหร่ แต่เบื้องต้นที่ได้พูดคุยกับญาติยังไม่มีท่าที่เรียกร้องอะไร ซึ่งหลังจากนี้ทางท่าอากาศยานดอนเมืองจะกลับไปทบทวนให้รัดกุมมากขึ้น และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งหลังเกิดเหตุนี้ โดยยืนยันว่าจะช่วยเหลือค่าพยาบาลและชดเชยให้กับผู้โดยสารอย่างถึงที่สุด และขอให้เชื่อมั่นทางท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้นและแก้ไขให้ดีที่สุด จะไม่ทำ ให้มีเหตุการณ์อุบัติเหตุเป็นครั้งที่ 2
ทั้งนี้ มีรายงานว่ากล้องวงจรปิดบริเวณใกล้จุดเกิดเหตุมีสามตัว คือ จุดเริ่มต้น จุดกลาง และจุดสุดทางเลื่อน แต่ปรากฏว่ากล้องหมุนไปจับภาพมุมอื่น และหันมาอีกทีตอนที่ผู้โดยสารหญิงล้มลงไปแล้ว
ทางด้าน ลูกชายผู้โดยสารหญิงวัย 57 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุบนทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง เผยว่า คุณแม่กำลังจะเดินทางไปทำธุระที่นครศรีธรรมราชโดยคุณแม่จะเดินทางไปเยี่ยมคุณตาที่กำลังป่วยและกะจะอยู่ดูแลที่นครศรีธรรมราช 1 สัปดาห์ แต่มาเกิดเหตุขึ้นเสียก่อน คุณหมอไม่แนะนำให้ต่อขาเนื่องจากความกังวลเรื่องอาการแทรกซ้อน เพราะตอนมาถึงโรงพยาบาลขาก็เกือบจะขาดอยู่แล้ว ซึ่งสภาพขาคล้ายกับถูกบดและถูกตัดขึ้นมาเหนือเข่า 10 เซนติเมตร โดยขณะนี้เพิ่งเข้าห้องผ่าตัดไป อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด