"ดร.ธรณ์" เตือนจะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด "ดับเบิลเอลนีโญ"
"ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" อัปเดตสถานการณ์ "เอลนีโญ" เตือนจะเกิดอะไรขึ้นหากเกิด "ดับเบิลเอลนีโญ" ทะเลเดือดร้อนหนักแน่ๆ
วันที่ 5 ก.ค. 66 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดถึงสถานการณ์ "เอลนีโญ" ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า
ผมเพิ่งมีโอกาสคุยกับ ดร.ชวลิต และ ดร.วิษณุ สองผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในรายการของคุณสุทธิชัย หยุ่น จึงอยากสรุปสถานการณ์ให้เพื่อนธรณ์ครับ
เอลนีโญเริ่มต้นแล้ว และจะลากยาวไปอย่างน้อยถึงต้นปีหน้า แต่แบบจำลองทำนายให้แม่นยำได้ประมาณนั้น หลังจากนั้นยังบอกไม่ได้
หน้าฝนของเหนือกลางอีสานมี 2 ช่วง เราผ่านช่วงแรกไปแล้ว ฝนน้อยกว่าปรกติประมาณ 20%
ฝนจะทิ้งช่วง กลับมาอีกทีกลางสิงหาคม
ต้นทุนน้ำก่อนเข้าหน้าฝน มีน้ำในเขื่อน/ระบบชลประทาน 35%
เนื่องจากฝนช่วงแรกน้อย การเก็บน้ำจึงไม่ได้มาก ต้นทุนน้ำตอนนี้จึงน่าเป็นห่วง ขึ้นกับฝนช่วงสองว่าเราจะทำได้แค่ไหน
ยังขึ้นกับการปรับตัวของภาคเกษตร เราใช้น้ำแบบเดิมไม่ได้ อย่าให้ความเคยชินใน 2-3 ปีก่อนมาลวงตาเรา
พื้นที่เกษตรของเราค่อนหนึ่งอยู่นอกพื้นที่ชลประทาน อันนั้นยิ่งมีน้ำน้อยเข้าไปใหญ่
ผลผลิตการเกษตรจะลดลง เช่น ข้าว อ้อย ทุกฝ่ายออกมาเตือนเรื่องการใช้น้ำในภาคการเกษตร
ผลกระทบทั่วอาเซียน อินโดอาจโดนหนัก เวียดนามก็ลำบาก เพราะน้ำเค็มหนุนส่งผลเยอะมากในพื้นที่ปลูกข้าวปากน้ำโขง
คาดการณ์จากเอลนีโญในอดีตว่า รายได้เกษตรกรไทยอาจลดลง 5% (เปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับว่าแรงแค่ไหนและการรับมือว่าทำแค่ไหน)
ผลกระทบในด้านอื่นๆ ยังมีอีกมาก เช่น ไฟป่า/ฝุ่น ฤดูฝุ่นปีนี้จะยาวนานและแรงกว่าปีก่อน
ยังรวมถึงฝุ่นจากไฟป่าข้ามพรมแดนจากอินโดที่ต้องตามดูในภาคใต้ ปีนี้อาจรุนแรง สิงคโปร์เริ่มเตือนพลเมืองแล้ว (ไฟอินโดจะเริ่มช่วงกลางปี)
เอลนีโญแรงตั้งแต่กันยายนไปจนถึงต้นปีหน้า เป็นช่วงหน้าฝนภาคใต้ หลายคนจึงออกมาเตือนว่าภาคใต้ต้องระวังเรื่องน้ำให้ดีเพราะฝนปีนี้อาจน้อย
เพื่อนธรณ์ที่ทำงานโรงแรม/ภาคบริการหรือกิจการอื่นๆ ที่ต้องการน้ำมาก มองทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ น้ำอาจหายาก/แพง
กรณีแย่สุดคือเจอดับเบิ้ลเอลนีโญ ต่อเนื่องจากปีนี้ถึงปี 68
อันนั้นแย่จริงเพราะปีนี้เรายังมีต้นทุนน้ำจากปีที่แล้ว (ลานีญา) แต่ปีนี้เราแล้ง ปีหน้าเราแล้งซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครยืนยันสถานการณ์นั้นในตอนนี้ได้ เพราะไกลไปเกินทำนาย
ในทะเลเริ่มเห็นชัดแล้ว จากปะการังฟอกขาว น้ำเปลี่ยนสีต่อเนื่องถึงช่วงนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือปีหน้าจะเป็นอย่างไร
หากเกิดดับเบิ้ลเอลนีโญ ทะเลเดือดร้อนหนักแน่ๆ
คำแนะนำสำหรับเพื่อนธรณ์คือติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด น้ำน้อย/น้ำเค็มหนุน/ฝุ่นเยอะ/อากาศร้อน/ทะเลร้อน คือสิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับมือไว้
การเยียวยาจากภาครัฐอาจมีบ้าง แต่ผลกระทบจากเอลนีโญคือเหนือจรดใต้ไปถึงทะเล จะเยียวยาไหวไหม ?
สิ่งที่เรากำลังจะเจอ ไม่เหมือนที่เคยเกิดมา เพราะเรามีโลกร้อนมาหนุน
WMO เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า Double Whammy เป็นสิ่งที่เราจะเผชิญต่อไป ทั้งเอลนีโญและลานีญา ในภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น
ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐบาลต้องเร่งยกระดับประเด็นนี้ และหาทางรับมืออย่างจริงจัง ใช้งบประมาณให้ถูกจุดเพื่อการวางแผนรับมือในระยะต่างๆ
นอกจากรับมือกับปีนี้ จะได้ปรับตัวเตรียมรับมือกับระยะต่อๆ ไปที่ในอนาคตเราจะเจออีก
ปีนี้หรือปีหน้า อุณหภูมิโลกจะร้อนทำลายสถิติเดิม
เศร้าแต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ถึงตอนนี้สิ่งที่ทำได้นอกจากลด GHG เพื่อลูกหลาน เราคงต้องหาทางดีที่สุดเพื่อตัวเอง
บททดสอบแรกมาถึงแล้วครับ
ขอบคุณข้อมูลจากดร.ชวลิต จันทรรัตน์ และ ดร.วิษณุ อรรถวานิช ครับ
รายละเอียดต่างๆ อยู่ในรายการของคุณสุทธิชัยครับ
ภาพกราฟ - the guardian