อาจารย์เจษฎ์ เผยสาเหตุป่วย "โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก" และวิธีการรักษา

13 กรกฎาคม 2566

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยสาเหตุและอาการป่วย "โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก" (Bell's Palsy) และวิธีการรักษา.

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เกี่ยวกับ "โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก" (Bell's Palsy) ระบุว่า

อาจารย์เจษฎ์ เผยสาเหตุป่วย \"โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก\" และวิธีการรักษา

โดยทางด้าน อาจารย์เจษฎ์ เผยว่า มีข่าวน่าตกใจ กรณีที่ "คุณมดดำ คชาภา" พิธีกรชื่อดัง ได้แอดมิตเข้าโรงพยาบาล อันเนื่องจากเกิดอาการปากเบี้ยวขณะเล่าข่าวในรายการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลพวงมาจากความเครียดเรื่องงาน และพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หน้าเบี้ยวครึ่งซีก จากการอักเสบของเส้นประสาทเส้นที่ 7 และขณะนี้ได้รับอนุญาตให้กลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน โดยต้องออกกำลังทำกายภาพ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และพักผ่อนให้เพียงพอ จนอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว สามารถพูดได้ปกติ คาดว่าใช้เวลารักษา 2 อาทิตย์ ถึง 2 เดือน กล้ามเนื้อใบหน้าจะกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ

ขณะที่ส่งกำลังใจให้คุณมดดำหายเร็วๆ ก็ขอเอาเรื่องนี้มาเป็นอุทาหรณ์ เป็นเกร็ดความรู้ประกอบกันหน่อย ถึงโรคที่ชื่อว่า Bell’s palsy หรือ โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ที่คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุของอาการคุณมดดำในครั้งนี้

  • โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s Palsy เกิดจากอะไร

- Bell’s palsy เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย มักเกิดในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด นอกจากนี้ยังพบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV

- Bell’s Palsy เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อของใบหน้าทั้งด้านบนและด้านล่าง เรียกได้ว่าเป็น เส้นประสาทใบหน้า (facial nerve)

- เพราะฉะนั้น เมื่อเวลามีความผิดปกติกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อาจจะทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงไป , หลับตาไม่สนิทข้างหนึ่ง , ยักคิ้วไม่ได้ , มุมปากตก ม เวลาดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกจากมุมปากด้านหนึ่ง

- เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ยังเกี่ยวข้องกับการรับรสด้วย เพราะฉะนั้นคนไข้อาจจะมีการสูญเสียการรับรสของลิ้น ด้านเดียวกับของใบหน้าที่อ่อนแรงไป

- คนไข้อาจจะได้ยินเสียงดังกว่าปกติ จากหูข้างเดียวกับใบหน้าที่อ่อนแรงนั้น เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มันไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ช่วยลดความดังของเสียงที่จะเข้ามาในหูข้างนั้นด้วย

  • สาเหตุของโรค

- Bell’s Palsy เกิดได้จากหลายสาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน บางทีอาจจะเป็นจากอุบัติเหตุหรือจากเนื้องอก หรือจากสาเหตุอื่น ๆ จนทำให้มีการอักเสบของตัวเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 และมีการบวมของเส้นประสาท

- สมมุติฐานที่เป็นที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบัน คือ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีโอกาสเป็นได้หลายตัว เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส และไวรัสอื่น ๆ

- คาดว่าไวรัส เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสนั้น เข้าไปซ่อนที่ปมประสาท (ตามธรรมชาติของไวรัสนี้) และถ้าเกิดร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานลดลง ไวรัสก็ออกมาทำงานและส่งผลต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ได้ (และ ถ้าไวรัสนี้ไปส่งผลต่อเส้นประสาทไขสันหลัง ก็อาจจะทำให้เกิดโรคงูสวัด เกิดตุ่มน้ำใส ผื่นคันตามแนวของผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทเส้นนั้นๆ)

  • อาการของโรค

- ผู้ป่วย Bell’s Palsy จะมีอาการ ยักคิ้วไม่ขึ้น , หลับตาไม่สนิท เปลือกตาล่างเปิดออก , ปากเบี้ยว มุมปากตก พูดไม่ชัด , ดื่มน้ำจะมีน้ำไหลออกจากมุมปาก , ขยับใบหน้าซีกนั้นไม่ได้ , บางคนรู้สึกหน้าบวมหรือชาใบหน้าครึ่งซีก และอาจมีอาการลิ้นครึ่งซีกชา และรับรสไม่ได้ , อาจมีอาการปวดหูหรือได้ยินเสียงดังมากผิดปรกติ ในระยะแรกที่มีอาการ , ไม่มีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อแขนขา

- โรค Bell’s Palsy นี้ เป็นความผิดปกติที่ตัวเส้นประสาท ไม่ใช่ที่เนื้อสมอง ไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมอง ที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตขึ้น ซึ่งนอกจากที่อาจจะมีใบหน้าอ่อนแรงแล้ว ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง มีอาการชาที่แขนขา มีอาการพูดไม่ชัด อาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด เพื่อแยกว่าคนไข้เป็นโรค Bell หรือว่าโรคหลอดเลือดสมอง

- ความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะของโรค : 80% ของผู้ป่วยมักจะหายดีในเวลา 4-6 สัปดาห์ , 10% ของผู้ป่วยจะมีอาการเบี้ยวที่ใบหน้าทั้งสองข้าง , 7% ของผู้ป่วยอาจเป็นซ้ำได้

  • วิธีการรักษา

- มีทั้งการใช้ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ การให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส การกายภาพบำบัด ด้วยการฝึกหรือกระตุ้นให้กล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรงได้ทำงาน เพื่อรอการฟื้นตัวของเส้นประสาท

- โดยการกายภาพบำบัดสามารถทำได้ดังนี้

   + ประคบอุ่นบริเวณใบหน้าซีกที่มีอาการ เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า

   + กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าที่มีอาการอ่อนแรงด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัวเป็นการชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ

   + การนวดใบหน้า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัวเป็นการชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ

   + การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรง

- ตามหลักฐานโดยรวมทางการแพทย์แล้วก ยังไม่ได้มีข้อสนับสนุนชัดเจนว่า การไปฝังเข็มจะมีประโยชน์ หรือว่าไม่มีประโยชน์กันแน่

  • วิธีการป้องกัน

- มีคนเป็นโรค Bell’s Palsy กันเยอะ ตามข้อมูลคือ ประมาณ 1 ใน 5,000 คนต่อปี

- ส่วนการป้องกัน ถ้าเราเชื่อว่าไวรัสจะออกมาตอนที่ร่างกายอ่อนแอ ก็ต้องสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรง