รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการกทพ.ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ฝ่ายบริหารจะเสนอบอร์ดปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัช ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) ซึ่งกำหนดตามสัญญาจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางทุก 5 ปี โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการ กทพ.ได้มอบหมายให้ไปเจรจากับผู้จัดการกองทุน TFFIF คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM และบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เพื่อชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน
แต่ทางกองทุน TFFIF ยืนยันให้ดำเนินการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามเงื่อนไขสัญญา เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนด และต้องรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย เนื่องจากมีข้อกำหนดด้วยว่าการทางฯ จะต้องมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าผ่านทางเพื่อนำส่วนแบ่งรายได้ให้กับกองทุนเพิ่มเติม ดังนั้นหากไม่มีการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามข้อกำหนดตามเงื่อนไขอาจเข้าข่ายทำผิดสัญญา
นอกจากนี้ตามสัญญาดังกล่าวจะครบกำหนดในวันที่ 1 ก.ย.66 ซึ่งพบว่าจากการคำนวณตามดัชนีในปัจจุบัน ส่งผลต่อการปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท โดยการปรับขึ้นค่าผ่านทางถือเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา เนื่องจากที่ผ่านมา กทพ.ได้นำเงินที่ได้จากการระดมทุนในกองทุน TFFIF มาใช้ลงทุนพัฒนาโครงการทางด่วน และมีข้อกำหนดจะต้องโอนรายได้ค่าผ่านทางเป็นผลตอบแทนให้กับกองทุน TFFIF
ส่วนเส้นทางพิเศษกาญจนาภิเษก ซึ่ง กทพ.ดำเนินการเอง ได้เสนอบอร์ด กทพ. เพื่อขอปรับขึ้นค่าผ่านทางด้วยเช่นกัน เนื่องจากสายทางนี้ไม่ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางมานานกว่า 10 ปีแล้ว ประกอบกับ พิจารณาตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ซึ่งที่ผ่านมา กทพ. แบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามดัชนีผู้บริโภค จึงขอบอร์ดปรับขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
สำหรับโครงการทางด่วนที่จะมีการเสนอขอพิจารณาปรับขึ้นค่าผ่านทางในครั้งนี้ จำนวน 3 สาย ประกอบด้วย
1.ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ปรับขึ้นตามสัญญา TFFIF จำนวน 5 บาท จากปัจจุบันจัดเก็บค่าผ่านทางเริ่มต้น แบ่งเป็น ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) รถ 4 ล้อ เริ่มต้น 20 บาท สูงสุด 55 บาท, รถ 6-10 ล้อ เริ่มต้น 50 บาท สูงสุด 145 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป เริ่มต้น 75 บาท สูงสุด 220 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 128,219 คันต่อวัน
2.ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา -อาจณรงค์) ปรับขึ้นตามสัญญา TFFIF จำนวน 5 บาท จากปัจจุบันมีอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 60 บาท และมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป 80 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 193,150 คันต่อวัน
3.ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ปรับขึ้นตามดัชนีผู้บริโภค จำนวน 5 บาท จากปัจจุบันมีอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ เริ่มต้น 15 บาทสูงสุด 55 บาท, รถ 6 ล้อเริ่มต้น 25 บาท สูงสุด 105 บาท, รถ 8 -10 ล้อ เริ่มต้น 35 บาท สูงสุด 115 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป เริ่มต้น 35 บาท สูงสุด 160 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 218,082 คันต่อวัน